ภาคใต้ Southern






                                         ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

เป็นประเพณีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดขึ้นปีละ2ครั้ง คือในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา
โดยชาวนครศรีธรรมราชจะรวบรวมทำบุญซื้อผ้าเป็นชิ้นๆ สีเหลือง สีขาว หรือสีแดงมาเย็บต่อๆกันเป็นพันๆหลาแล้วพากันแห่ไป วัดพระมหาธาตุมหาวิหาร โดยแห่ทักษิณาวรรต รอบองค์พระธาตุ 3 รอบ
นำเข้าสู่วิหารพระทรงม้าหรือพระม้า ขึ้นบันไดสู่ภายในกำแพงแก้ว ล้อมฐานพระบรมธาตุนำผ้าพันรอบฐาน องค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเพื่อถวายสักการะบูชา


                                         ประเพณีขึ้นถ้ำวัดถ้ำเขาขุนกระทิง

จังหวัด ชุมพร
ช่วงเวลา ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕
ความสำคัญ
ประเพณีขึ้นถ้ำเป็นประเพณีที่นิยมจัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรด้วยมีความเชื่อว่าการทำนาหรือ กิจกรรมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จได้เกิดจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การขึ้นถ้ำจึงเป็นพิธีกรรมใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักเป็นพระพุทธรูปของวัดเพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นนิมิตรหมายที่ดีให้แก่ชีวิต
พิธีกรรม
เปิดให้มีการสักการะ และปิดทองพระพุทธรูปภายในถ้ำ โดยทางวัดจัดบริการจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อหารายได้ให้วัด อาจมีการจัดมโหสพ เช่น มโนราห์ ควายชน การละเล่นพื้นเมือง และร้านค้าจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ


                                        ประเพณีอาบน้ำคนแก่

จังหวัด นครศรีธรรมราช
ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เดือนเมษายน (เดือน ๕) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวันเวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม
ความสำคัญ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ แก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกูล รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ
พิธีกรรม
๑. การขอขมา
เมื่อเชิญคนแก่ทั้งหลายนั่งในโรงพิธีเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานและชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะรวมกลุ่มยืนอยู่ด้านหน้าของคนแก่ทั้งหลาย ผู้นำในพิธีนำดอกไม้และจุดธูปเทียนพนมมือ แล้วกล่าวขอขมา ทุกคนว่าตามดังนี้
"กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
๒. พิธีการอาบน้ำ
การอาบน้ำเป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่จนเปียกโชกทั้งตัว ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการอาบน้ำ มารดน้ำที่มือทั้งสองของคนแก่แทนเพราะคนแก่ที่มีอายุมาก มีลูกหลานและผู้ที่เคารพนับถือมาก พิธีการอาบน้ำต้องใช้เวลานานจึงแล้วเสร็จ คนแก่เหล่านั้นอาจรู้สึกหนาวสะท้าน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บป่วยเป็นไข้ได้
ลูกหลานจะเข้าแถวตักน้ำที่เตรียมไว้ในโอ่ง มารดที่มือหรือที่ตัวคนแก่ และมอบเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ให้คนแก่พร้อมกับขอพร คนแก่ก็จะให้พรลูกหลาน การอาบน้ำจะทำไปตามลำดับจนครบทุกคน
เมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะนำเสื้อผ้าชุดใหม่มาผลัดเปลี่ยนให้คนแก่ ทาแป้ง หวีผม แต่งตัวให้


                             ประเพณีลากพระ (ชักพระ)

จังหวัดนครศรีธรรมราช
ช่วงเวลา วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด
ความสำคัญ
เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน
พิธีกรรม
๑. การแต่งนมพระ
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
๓. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง
สาระ
ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
๑. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร
๒. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย
๓. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ


                                         ประเพณีสารทเดือนสิบ

จังหวัดนครศรีธรรมราช
ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ
ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ
ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที
พิธีกรรม
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
๑. การจัดหฺมฺรับ
เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ
การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย
๒. การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป
๓. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก
๔. การตั้งเปรต
เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น
สาระ
ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญหลายประการ ดังนี้
๑. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน เพื่อตอบแทนบุญคุณ ลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
๒. เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกล ได้พบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมในหมู่ญาติ
๓. เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
๔. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลำบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนำไปถวายพระในรูปของหฺมฺรับ ให้ทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน


                                                                                  ประเพณีการแห่นก

จังหวัดนราธิวาส
ความสำคัญของประเพณีการแห่นก
ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีการทางพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่นราธิวาส ซึ่งได้มีการกระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์ แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในศิลปะและอาจจัดขึ้นในการแสดงความคารวะ แสดงความจงรักภักดี แก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุนัต หรือที่เรียกว่า "มาโซยาวี" หรือจัดขึ้นเพื่อประกวดเป็นครั้งคราว นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อการแห่มีเพียง ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเฆาะซูรอหรือ นกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามสันนิษฐานคือ "นกการเวก" เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆการประดิษฐ์มักจะตบแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็น ๔ แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "นกทูนพลู" เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลู และมีการทำให้แปลกจากนกธรรมดา เพราะเป็นนกสวรรค์
๒. นกกรุดา หรือ นกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑ เชื่อกันว่านกชนิดนี้มีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ในปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำนกชนิดนี้ ในขบวรแห่
๓. นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะวูรอ มีหงอน สวยงามเป็นพิเศษ ชาวไทยมุสลิมยกย่องนกยูงทองมาก และไม่ยอมบริโภคเนื้อ เพราะเป็นนกที่รักขน การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น จึงมีการตกแต่งที่ประณีตถี่ถ้วนใช้เวลามาก
๔. นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
ช่วงเวลาในการจัดประเพณีการแห่นก
ในการแห่นกนั้นได้มีการจัดขึ้น ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง หรือในโอกาสการต้อนรับแขกเมืองของชาวนราธิวาส และยังจัดในพิธีการเข้าสุหยัด
พิธีกรรมในการแห่นก
ประเพณีการแห่นกนั้น สันนิษฐานว่า จะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งพิธีสวดมนต์ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย ให้หมดสิ้นไปให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า


                                                                        ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

จังหวัดนราธิวาส
ช่วงเวลา ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย
สาระ
การแข่งขันใช้เรือกอและระยะทาง ๖๕๐ เมตร ผู้ควบคุมลำละ ๑ คน จำนวนฝีพายรวมทั้งนายท้ายไม่เกินลำละ ๒๓ คน และมีฝีพายสำรองไม่เกินลำละ ๕ คน การเปลี่ยนตัวในแต่ละเที่ยวทำได้เที่ยวละไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้ให้ผู้ควบคุมทีมประจำเรือแจ้งให้คณะกรรมการปล่อยเรือทราบ เรือที่เข้าแข่งขันทุกลำต้องถึงจุดเริ่มต้น (จุดปล่อยเรือ) ก่อนเวลาที่กำหนดแข่งขันในรอบนั้น หากไปช้ากว่ากำหนดเกิน ๑๕ นาทีถือว่าสละสิทธิ์จะปรับแพ้ในรอบนั้นได้ ก่อนการได้ยินสัญญาณ ณ จุดเริ่มต้นฝีพายทุกคนยกพายให้พ้นผิวน้ำ ยกเว้นนายท้ายเรือให้ใช้พายคัดท้ายเรือบังคับเรือให้หยุดนิ่ง และจะต้องวิ่งในลู่ของตน หากวิ่งผิดลู่หรือสายน้ำถือว่าผิดกติกาให้ปรับเป็นแพ้ในเที่ยวนั้น เรือที่เข้าถึงเส้นชัยก่อนลำอื่นโดยถือหัวเรือสุดเป็นการชนะการแข่งขันในเที่ยวนั้น การแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ รอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เป็นรอบคัดเลือก รอบที่ ๓ เป็นรอบรองชนะเลิศและรอบที่ ๔ เป็นรอบชิงชนะเลิศ

                                                                            ประเพณีลากพระหรือชักพระ

จังหวัดปัตตานี
ช่วงเวลา วันออกพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑)
ความสำคัญ
เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา กระทำกันหลังวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษา ๑ วัน คือตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อนที่ชาวบ้านเรียกว่า "พนมพระ" แล้วแห่แหนชักลากไปตามถนนหนทาง หรือในลำน้ำ แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะสม ซึ่งชาวใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมาหลายจังหวัดจะมีประเพณีนี้
ประเพณีลากพระของชาวใต้มีมาแต่โบราณและก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น นอกจากนั้นประเพณีชักพระยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดี ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมของหมู่คณะ นำความสุขสงบมาให้สังคม
พิธีกรรม
เมื่อเดือน ๙ ผ่านไป หลายวัดที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน ๑๑ ก็เริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน" (ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธี รวมทั้งให้ชาวบ้านนำไปประชันหรือแข่งขันกับวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในขุดและขึงหนังตึงเต็มที่ โดยใช้เวลานานแรมเดือนบางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย แต่ละวัดจะต้องมีโพน ๒ ใบ ให้เสียงทุ้ม ๑ ใบ เสียงแหลม ๑ ใบ วัดไหนมีโพนเสียงดีแข่งขันชนะชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่นชมยินดีกันไปนานแรมปี
เมื่อใกล้วันลากพระ ประมาณ ๗ หรือ ๓ วัน ทุกวัดที่จะทำการลากพระก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม) เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระและอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นภิกษุสามเณรและอุบาสกที่มีฝีมือทางช่างก็ช่วยกันตกแต่งเรือพระและพนมพระ (บุษบก) ซึ่งต้องทำกันสุดฝีมือ ทางช่างก็ช่วยกันตกแต่งเรือพระและพนมพระ (บุษบก) ซึ่งต้องทำกันสุดฝีมือ สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐาน ถ้าลากทางน้ำเรียกว่า "เรือพระน้ำ" ซึ่งจะใช้เรือจริง ๆ มาประดิษฐ์ตกแต่งถ้าลากพระทางบกเรียกว่า "เรือพระบก" และจะใช้รถหรือล้อเลื่อนประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ เรือพระน้ำจะใช้เรือสำปั้นหรือเรือสำหรับลากจูง ขนาดบรรทุกความจุประมาณ ๓-๕ เกวียน สมัยก่อนนิยมใช้เรือ ๒-๓ ลำ ผูกขนานกัน ปัจจุบันใช้เพียงลำเดียวเพราะหาเรือยาก
ถ้าเป็นเรือพระบก โบราณจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายกับเรือจริงมากที่สุด แต่ต้องพยายามให้มีน้ำน้อย จึงมักใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่งตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือ การตกแต่งเรือพระบกมักแต่งหัวเรือและท้ายเรือเป็นรูปพญานาค อาจทำเป็นพญานาค ๕ ตัว หรือ ๗ ตัว ใช้กระดาษสีเงิน สีทอง หรือกระดาษสีสะท้อนแสงฉลุลวดลายสวยงามทำเป็นเกล็ดนาค สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้งลำ
ส่วนสำคัญที่สุดของเรือคือ บุษบกจะบรรจงตกแต่งกันอย่างสุดฝีมือ หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นแบบจตุรมุขหรือจตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูด งามสง่าสะดุดตาตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจัง ฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น เสาบุษบกมีลายแทงหยวก หรือใช้กระดาษสีหรือฉลุลวดลายปิดอย่างประณีตบรรจงงดงามอย่างได้สัดส่วน ยอดบุษบกจะเรียวชะลูด ปลายสุด มักใช้ลูกแก้วฝังหรือติดไว้ เมื่อต้องแสงแดดจะทอแสงระยิบระยับ
จากปลายบุษบกจะมีธงทำด้วยผ้าหลากสี ผู้ห้อยโยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของประทุน หัวและท้าย นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังช่วยพยุงให้บุษบกทรงตัวอยู่ได้อย่างมั่นคง
พระพุทธรูปที่นำมาประดิษฐานประจำเรือพระเรียกว่า "พระลาก" ซึ่งแต่ละวัดจะมีพระประจำวัด เป็นพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ (ปางขอฝน) เพราะชาวใต้เชื่อว่าการลากพระนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีความเชือกันว่าขณะที่ลากพระนั้นถ้ามีใครแอบเอาเศษไม้ไปสอดไว้ที่ฐานพระลากจะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นระหว่างผู้ที่ลากพระด้วยกัน จึงต้องคอยระวังดูแลอย่างใกล้ชิด
อีกส่วนหนึ่งที่เรือพระจะขาดเสียไม่ได้คือ ที่สำหรับแขวนต้มบูชาพระ เพราะพุทธศาสนิกชนทุกครัวเรือนจะพยายามนำต้มไปแขวนบูชาพระลากตามคติความเชื่อให้ครบถ้วนเท่าจำนวนพระ (ซึ่งจะเท่ากับจำนวนวัดที่ลากพระ)
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยู่คู่เคียงกับประเพณีชักพระคือ ข้าวต้ม ดังนั้น ก่อนวันลากพระจะมาถึง ๑-๒ วัน ชาวบ้านจะสาละวนอยู่กับการแทงต้ม ซึ่งเริ่มจากการเตรียมหายอดกระพ้อ นำข้าวสารเหนียวมาแช่ให้อิ่มตัวแล้วผัดด้วยกะทิให้เกือบสุก (บางรายนิยมแทรกด้วยถั่ว เรียกว่า "ต้มใส่ถั่ว") ซึ่งต้องต้มถั่วเหลืองหรือถั่วดำให้สุกเสียก่อน เมื่อผัดข้าวเหนียวเข้ากับกะทิจนเกือบจะได้ที่แล้ว จึงค่อยผสมถั่วคลุกเคล้าลงไปให้เข้ากันดี แล้วตักใส่ภาชนะวางทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงนำมาห่อด้วยใบกระพ้อ ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายฝักกระจับ แต่ละลูกจะมีขนาดโตประมาณกิน ๒-๓ คำ การก่อตัวต้องรู้วิธีม้วนขอดปลายใบกระพ้อขึ้นรูปเป็นมุมแรกสำหรับยัดข้าวเหนียวใส่ รู้วิธีการพันห่อ การสอดซ่อนปลายโคนใบและดึงปลายเพื่อให้รัดแน่นได้รูปทรงสามเหลี่ยมสวยงาม เรียกวิธีการห่อต้มว่า "แทงต้ม" เมื่อแทงต้มเสร็จแล้วจึงนำไปต้มจนน้ำแห้งขอด จะได้ต้มที่สุกเหนียว
หอม อร่อย บางคนอาจใช้วิธีการนึ่งได้
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บรรดาชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกาจะพร้อมกันอัญเชิญพพระพุทธรูปสำหรับใช้เป็นพระลากมาทำพิธีสรงน้ำ ขัดถูก ซึ่งจะใช้มะขามเปียก มะเฟือง หรือส้มอื่น ๆ เพื่อให้แลดูสวยงาม เปลี่ยนผ้าทรงและสมโภช ในคืนนั้น จะต้องเร่งรีบเตรียมเรือพระให้เสร็จสิ้นพร้อมสรรพทุประการ
สาระ
เมื่อถึงเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จะอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุในวัดนั้นทั้งหมดขึ้นนั่งประจำเรือพระ พร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่จะติดตามและประจำเครื่องประโคมอันมี โพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัด (ภิกษุที่จะร่วมไปด้วยต้องรับฉันภัตตาหารเช้าให้เรียบร้อยเสียก่อน) ถ้าเป็นลากพระทางน้ำก็จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบกก็จะใช้คนเดินลากแล้วแต่กรณี
ขณะที่ลากเรือพระไปใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระ หรือร่วมลากตอนไหนก็ได้ เกือบทุกท้องถิ่นกำหนดให้มีจุดนัดหมาย เพื่อให้บรรดาเรือพระทั้งหมดในละแวกใกล้เคียงไปชุมนุมในที่เดียวกันในเวลาก่อนพระฉันเพล ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาส "แขวนต้ม" และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรได้ทั่วทุกวัดหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โอกาสนี้จึงก่อให้เกิดการประกวดประชันกันขึ้นโดยปริยาย เช่น การประกวดเรือพระ การแข่งขันเรือพาย การเล่นเรือโต้แก้จำกัด การประกวดเรือเพรียวประเภทต่าง ๆ เช่น มีฝีพายมากที่สุด แต่งตัวสวยงามที่สุด หรือตลกขบขัน หรือมีความคิดริเริ่มดี มีการแข่ง
ขันตีโพนประเภทตีดัง ตีทน ตีท่าพลิกแพลง ลีลาการตีสวยงาม เป็นต้น และบางทีก็มีกิจกรรมแปลก ๆ เช่น กีฬาซัดต้ม
การประกวดเรือพระสมัยก่อนมักให้รางวัลเป็นของที่จำเป็นสำหรับวัด เช่น น้ำมันก๊าด กาน้ำ ถ้วยชาม สบง จีวร เสนาสนะสงฆ์ แต่ปัจจุบันรางวัลมักจะให้เป็นเงินสด
สำหรับในท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี การชักพระทางบก ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า วัดสุวรรณากร (บ่อทอง) วัดโมลีนิมิตร (วัดหรั่ง) วัดหน้าเกตุ วัดมะกรูด วัดปุราณประดิษฐ์ (วัดบู) วัดมะเดื่องทอง (กาโผะ) วัดสมุทรวารี (ป่าโทะ) วัดโรงวาส และวัดใกล้เคียงในอำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ชักลากพระวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปตามเส้นทางสู่หน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นจุดหมายปลายทาง และมีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน มีมหรสพให้ชมตลอดทั้งคืน มีการประกวดเรือพระ รุ่งเช้าจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ตกช่วงบ่ายชักชวนกันลากพระกลับวัด ปัจจุบันประเพณีชักพระอำเภอโคกโพธิ์ มีการสมโภชและการเฉลิมฉลองกันเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งเป็นประเพณีที่ภาคภูมิใจของชาวไทยพุทธ
ส่วนการชักพระทางน้ำ ทุกวัดต้องมีการสร้างพระเรือครัว เรือพายหญิง เรือพายชาย ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม และจะมีการลากพระล่วงไปตามลำน้ำยามูสู่บ้านท่าทราย ใต้ต้นไทรใหญ่กิ่งไพศาลริมน้ำยามู รวมหมู่เทียบเรือพระสมโภชตักบาตร เลี้ยงพระเสร็จแล้วมีการแข่ง ขันเรือพายหญิง เรือพายชาย ไล่สาดน้ำกัน เกี้ยวพาราสี ร้องเพลงขับกล่อมตามประเพณีนิยมท้องถิ่นจนพลบค่ำ
ประเพณีลากพระได้ปรับเปลี่ยนเติมแต่งต่างออกไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น นิยมใช้เรือหางยาวแทนเรือเพรียว เพราะจากเรือขนาดใหญ่ทำเรือพระได้ยากขึ้น มีการใช้รถยนต์มาดัดแปลงแทนล้อเลื่อน มีการตกแต่งบุษบกหรือ "นมพระ" ด้วยวัสดุสมัยใหม่ เช่น โฟม กระดาษ พลาสติก หลังคาซ้อนกันเป็นจตุรมุขก็มี บางวัดมีการนำเอากลองยาวมาประกอบขบวนแห่ มีการตั้งหีบรับเงินอนุโมทนา ติดตั้งเครื่องขยายเสียง ชักชวนให้มีการทำบุญหรือเรี่ยไร ประชาชนหันมานิยมซื้อต้มจากตลาดแทนการทำเอามากขึ้น ปรากฏการณ์หลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจะดีหรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ ขอให้ท่านพิจารณาไตร่ตรองเอาเองตามสมควรเถิด


                                                  ประเพณีกินผัก

จังหวัด พังงา
ช่วงเวลา ประกอบพิธี ๙ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย)
ความสำคัญ
กินผักภาษาจีนเรียกว่า "เก้าอ็วงเจ" หรือ "กิวอ็วงเจ" เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของคนไทยที่มีเชื้อสายจีนทางฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดพังงาในเขตอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง แต่เดิมผู้คนกินผักมักมีเชื้อสายฮกเกี้ยน แต่ในปัจจุบันแพร่หลายไปยังกลุ่มอื่น ๆ
ด้านคุณค่าของพิธีกินผักนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคร้ายจากตัวผู้กินผัก แล้วยังเป็นการแสดงออกถึงการเคารพบรรพบุรุษ และเป็นการฝึกจิตใจของผู้กินผักให้บริสุทธิ์ ได้รักษาศีลอีกทั้งยังเหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันด้วย เพราะเป็นช่วงที่ได้ประหยัดการใช้จ่าย งดการเที่ยวเตร่ อาหารผักก็ราคาถูกกว่า และสุดท้ายยังก่อให้เกิดความสามัคคี เพราะว่าผู้ที่ร่วมกินเจไม่ว่าคนร่ำรวยหรือคนจนจะไปร่วมในพิธีกันอย่างพร้อมเพรียงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ทักทายกันด้วยดี ด้วยเหตุนี้จำนวนผู้ที่เข้าร่วมกินผัก อย่างเช่น ในจังหวัดพังงาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีกินผักจะคงอยู่สืบทอดต่อไปอีกนาน
พิธีกรรม
การประกอบพิธีกรรมกินผัก ก่อนพิธี ๑ วัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า รมกำยานไม้หอม และมีการยกเสาธงไว้หน้าศาลเจ้า สำหรับอันเชิญดวงวิญญาณของเจ้า เที่ยงคืนก็ประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ (พระอิศวร) และกิ๋วอ๋องไตเต หรือกิวอ่องฮุดโจ้ว (ผู้เป็นใหญ่ทั้ง ๙) มาเป็นประธานในพิธี จากนั้นก็แขวนตะเกียงน้ำมัน ๙ ดวง อันเป็นสัญลักษณ์ของดวงวิญญาณกิ๋วอ๋องไตเต ไว้บนเสาธง อันเป็นการแสดงว่าพิธีกินผักเริ่มขึ้นแล้ว
การใช้ตะเกียงน้ำมัน ๙ ดวง ก็เพื่อให้หมายถึงดวงวิญญาณของกิ๋วอ๋องไตเต หรือ เก้าอ๊วงไตเต คำว่า "เก้าอ๊วงไตเต" หรือกิ๋วอ๋อง แปลว่า นพราชา ตามตำราโหราศาสตร์จีน ก็หมายถึงดาวนพเคราะห์ โดยเชื่อกันว่าดาวเคราะห์ ๙ ดวงนี้ เกิดจากการแบ่งภาคของเทพเจ้า ๙ องค์ ซึ่งทรงอำนาจมาก บริหารธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุทอง เทพเจ้าทั้ง ๙ นี้ เกิดจากการแบ่งภาคของอดีตพระพุทธเจ้า ๗ องค์ กับพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ องค์ เทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์นี้มีคุณแก่โลกมาก เพราะธาตุทั้งหลายที่พระองค์ประทานให้เป็นของจำเป็นในสรรพสังขาร์
หลังจากทำพิธีรับเจ้ามาเป็นประธานในศาลแล้วก็ทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการตามทิศเรียกว่า พิธี "ปังเอี้ย" หรือ ปั้งกุ๊น" พิธีนี้จะใช้ธงสีต่าง ไปปักเป็นสัญลักษณ์การวางกำลังทหาร ถือเอาสมัยซ้องคือการวางกำลังทำทิศ
ในช่วงเวลาทำพิธี ๙ วัน จะมีพิธีย่อย ๆ หลายอย่างได้แก่
๑. พิธีบูชาเจ้า ในวันแรกของพิธีจะมีการบูชาเจ้าด้วยเครื่องเซ่น และตามบ้านของผู้กินผัก เมื่อกินผักได้ครบ ๓ วัน จะถือว่าผู้นั้นสะอาดบริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า "เช้ง" ตอนนี้จะมีการทำพิธีเชิญเจ้า ๒ องค์ มาร่วมพิธี องค์แรกเป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่สำรวจผู้มาเกิดชื่อ "ล้ำเต้า" อีกองค์เป็นเจ้าซึ่งทำหน้าที่สำรวจผู้ตายไปชื่อ "ปักเต้า"
๒. พิธีโขกุ้น หมายถึงการเลี้ยงทหาร ซึงทำพิธีในวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ หลังเที่ยงเมื่อเริ่มพิธีต้องมีการเตรียมอาหาร และเหล้าสำหรับเซ่นสังเวย เลี้ยงทหารและมีหญ้าหรือพวกถั่ว เพื่อเป็นอาหารของม้า หรือเมื่อเสร็จพิธีแล้วตอนกลางคืนจะเรียกตรวจพลทหารตามทิศเรียกว่า "เซี่ยมเมี้ย"
๓. พิธีซ้องเก็ง เป็นการสวดมนต์โดยจะเริ่มทำการสวดมนต์ตั้งแต่เมื่อพระกิวอ๋องไตเต หนือกิวอ๋องฮุดโจ้วเข้ามาประทับในโรงพระ และจัดทำพิธีสวดวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้าและตอนย่ำค่ำ เป็นลักษณะการสวดมนต์เช้า และสวดมนต์เย็น โดยเฉพาะกลางคืน หลังจากสวดมนต์ซึ่งใช้บทสวดคือ ปักเต้าเก็ง ก็จะมีการ "ตักซ้อ" คืออ่านรายชื่อของผู้ที่เข้าร่วมกินเจ ซึ่งอ่านต่อหน้าแท่นบูชา เป็นลักษณะการเบิกตัวเข้เฝ้า
๑. พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวัน ๗ ค่ำ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองผู้กินผัก
๒. พระออกเที่ยว หรือการแห่เจ้า เป็นการออกเพื่อโปรดสัตว์ออกเยี่ยมประชาชนเคารพนับถือ โดยจะมีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นก็จะเป็นการเกี้ยวหามพระเรียกว่า "ถ้วยเปี๊ย" โดยจะหามรูปพระบูชาต่าง ๆ ออกนั่งเกี้ยวไป ซึ่งจะจัดตามชั้น และยศของพระ เช่น จากสิญูขึ้นไปก็เป็นง่วนโส่ย สูงไปอีกก็เป็นไต่เต้ สูงขึ้นไปเป็นฮุด จากนั้นจะเป็นขบวนเกี้ยวใหญ่ ซึ่งมักจะใช้คน ๘ คน และมีฉัตรจีนกั้นไปด้วย จะเป็นที่ประทับของกิวอ๋องฮุดโจ้ว ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน และจุดประทัดต้อนรับขบวนเมื่อผ่านไปถึง
๓. การลุยไฟ กองไฟถือว่าเป็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์ ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงถึงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อนหรืออาจจะถือว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์โดยลุยทั้งคนทรงเจ้าที่กำลังประทับทรง หรือประชาชนโดยทั่วไปก็ได้
๔. พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของการถือศีลกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดา มักจะส่งกันที่หน้าเสาธง ส่วนตอนกลางคืนจะมีการส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อขบวนส่งออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในโรงพระต้องดับสนิทหมดแล้ว ตะเกียงที่เสาธงจะถูกดึงขึ้นสูงสุดตอนเช้าของวันแรก หลังจากเสร็จงานกินผักจะมีการลงเสาธง และเรียกกำลังทหารกลับ หลังจากที่เลี้ยงทหารเสร็จแล้ว จากนั้นก็เปิดประตูใหญ่ เมื่อได้ฤกษ์เปิดตามวันในปฏิทิน หรือตามที่เจ้าสั่งไว้
สาระ
ประเพณีกินผักเชื่อกันว่าเริ่มขึ้นที่ประเทศจีน ชาวเมืองทั้งหลายในประเทศจีนประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติอีกทั้งเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์และระลึกถึงดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ตนเคารพให้ช่วยปกป้องคุ้มครองด้วย ชาวจีนในพังงาจึงจัดพิธีกรรมกินผักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีกินผักในจังหวัดพังงา โดยเฉพาะที่อำเภอตะกั่วป่า เริ่มขึ้นในการทำพิธีกินผัก ผู้คนที่ร่วมพิธีจะล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบอาหารจนสะอาดหมดกลิ่นคาว บ้างก็ใช้ภาชนะชุดใหม่ในการประกอบอาหารหรือใส่อาหารผัก บ้างก็ไปรับประทานอาหารที่โรงครัว ในช่วงกินผักนี้ผู้ที่เคร่งครัดในพิธีจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวตลอดทั้ง ๙ วัน โรงครัวของศาลเจ้าจะรับภาระหนักมากในเรื่องการประกอบอาหารให้กับผู้ที่ร่วมกินผัก ผู้ใดที่ประสงค์จะรับอาหารจากศาลเจ้าต้องไปลงชื่อแจ้งความประสงค์บอกจำนวนบุคคลในบ้านที่ร่วมกินผัก และจำนวนวัน เพื่อว่าโรงครัวจะได้จัดเตรียมอาหารได้เพียงพอ เมื่อถึงเวลาอาหารจะนำปิ่นโตตักอาหารไปรับประทานที่บ้าน และเนื่องจากจำนวนของผู้ร่วมกินผักมีมากทางโรงครัวจึงต้องหาอาสาสมัครมาช่วยงานครัวเป็นจำนวนมาก สำหรับอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัวนั้นได้รับบริจาคจากผู้มีใจศรัทธา และบุคคลทั่วไป และจากผู้เข้าร่วมกินเจ
อาหารที่โรงครัว จัดทำมีทั้งผัด แกงจืด และแกงเผ็ด ซึ่งปราศจากไข่ และเนื้อสัตว์ นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ศาลเจ้าก็จะมีแม่ค้าทำอาหารผักนานาชนิดมาจำหน่าย
การประกอบพิธีสำคัญ ๆ ในช่วง ๙ วันนี้ จะมีการทรงเจ้าโดยอัญเชิญเจ้าต่าง ๆ มาประทับทรงในร่างของม้าทรงนั้น คือผู้ที่ชะตากำลังจะดับ ก็จะเข้าร่างประทับทรง เพื่อต่ออายุให้ หรือบุคคลที่เหมาะสม และสมัครใจจะเป็นม้าทรง เจ้าก็จะเข้าประทับทรงเช่นกัน
ในระยะที่มีการประกอบพิธีต่างๆ หรือในกรณีที่มีการแห่ขบวนไปม้าทรงจะแสดงอิทธิฤกษ์ ฟาดฟันอาวุธไปตามร่างกายของตนเอง บ้างเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงลิ้น แก้ม แขน ขา มีการขึ้นบันได มีดแหลมคมก็มิได้ปรากฏบาดแผลให้เห็นเลย ภาษาที่ม้าทรงพูดขณะที่เจ้าประทับทรงก็เป็นภาษาจีนตลอด ถึงแม้ตัวม้าทรงเองจะไม่เคยรู้เรื่องภาษาจีนเลยก็ตาม
การที่ม้าทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ถือกันว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ผู้ที่กินผัก โดยพระเป็นผู้รับเคราะห์เสียเอง ในระหว่างการประกอบพิธีต่าง ๆ จะมีการประโคมด้วยกลอง เสียงอึกทึกมาก มีการซื้อหาประทัดเพื่อนำมาจุดในระยะของการประกอบพิธีกันมากมาย


                                               ประเพณีการแข่งโพน

จังหวัด พัทลุง
ช่วงเวลา ปลายเดือนสิบ ก่อนประเพณีชักพระ
ความสำคัญ
วัดต่าง ๆ เตรียมทำบุษบก หุ้มโพน และเริ่มการคุมโพนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ต่อมามีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่า ผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะ แรก ๆ เข้าใจว่า คงตีแข่งขันภายในวัดและค่อยขยายออกมาภายนอกวัด เพิ่มจำนวนโพนขึ้น จัดประเภทและมีกติกามากขึ้น การคิดเล่นสนุกสนานเหล่านี้ ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมา ปัจจุบันการแข่งโพนเป็น กิจกรรมการละเล่นที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง
พิธีกรรม
การแข่งโพนแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ
๑. แข่งมือ ตัดสินให้ผู้ตีที่มีกำลังมือดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยให้ตีจนผู้ใดอ่อนล้าก่อนเป็นฝ่ายแพ้ ปัจจุบันไม่นิยมเพราะทำให้เสียเวลามาก
๒. แข่งเสียง ตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ การแข่งขันจะเป็นแบบพบกันหมดหรือแพ้คัดออกก็ได้ จับสลากแข่งขันเป็นคู่ ๆ ใช้ผู้ตีฝ่ายละ ๑ คน กรรมการ ๓ - ๕ คน ตัดสินให้คะแนน โดยอยู่ห่างจากสถานที่ตีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ณ สถานที่ตี กรรมการควบคุมการตีและคุมเวลา เรียกคู่โพนเข้าประจำที่ ลองตีก่อนฝ่ายละประมาณ ๓๐ วินาที เพื่อดูว่าโพนฝ่ายใดมีเสียงทุ้ม และโพนฝ่ายใดมีเสียงแหลม จากนั้นเริ่มให้ทั้งคู่ตีพร้อมกันภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากจะใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ นาที ขณะที่โพนกำลังตีแข่งขันอยู่นั้น กรรมการฟังเสียงทั้งหมดจะตั้งใจฟังเสียงโพนแล้วตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยถือเอาเสียงข้างมากของกรรมการเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน
สาระ
การแข่งขันโพน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับพิธีการทางศาสนาบางประการแล้ว กิจกรรมการละเล่นชนิดนี้ยังช่วยให้มองเห็นการแสวงหาความสุข ความบันเทิงใจ อีกทั้งยังเป็นสื่อในการประสานความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสพบปะสัมพันธ์กัน เป็นกิจกรรมการละเล่นที่สำคัญนำมาสู่การสร้างสรรค์ ความสามัคคีในชุมชน จึงควรอนุรักษ์ให้ การละเล่นชนิดนี้คงอยู่ตลอดไป


                                            ประเพณีแห่พระแข่งเรือ

จังหวัดชุมพร
ความสำคัญ
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ
พิธีกรรม
การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด
ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร
สาระ
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น


                                                                             ประเพณีถือศีลกินเจ

จังหวัดตรัง
ช่วงเวลา
การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง
ความสำคัญ
พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญดังนี้
๑. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
๒. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
๓. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก
พิธีกรรม
ประเพณีถือศีลกินเจเป็นประเพณีที่มีการผสมผสานของลัทธิความเชื่อต่าง ๆ หลายลัทธิ ได้แก่ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ ลัทธิการนับถือเทวะ และพุทธศาสนานิกายมหายาน
การประกอบพิธีกรรม
๑. ก่อนพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า รมกำยาน ไม้หอม และยกเสาธงเต๊งโก ไว้หน้าศาล เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า พอถึงเวลาเที่ยงคืนจะประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ และกิวอ๋องไตเต้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับแขวนตะเกียงน้ำ ๙ ดวง ซึ่งหมายถึงดวงวิญาณขององค์กิวอ๋องไตเต้ เป็นอันว่าพิธีกินเจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากพิธีรับเจ้าเข้ามาเป็นประธานในศาลแล้ว ก็จะทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ
๒. การเตรียมการกินเจ ผู้ศรัทธาที่จะร่วมถิอศีลกินเจจะทำความสะอาดภาชนะเครื่องใช้ในการประกอบอาหารให้สะอาดหมดกลิ่นคาว จัดแยกเครื่องใช้ไว้เฉพาะไม่ปะปนกับเครื่องใช้ทั่วไป บางบ้านจะนำภาชนะชุดใหม่มาประกอบอาหารและใส่อาหารเจ บางบ้านจะรับอาหารจากโรงปรุงของศาลเจ้า
๓. พิธีกรรมตลอด ๙ วัน ของการกินเจ มีดังนี้
๓.๑ พิธีบูชาเจ้า ทำในวันแรก บูชาด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ ทั้งที่ศาลเจ้า และที่บ้านของผู้ที่กินเจ เมื่อกินเจครบสามวัน ถือว่าผู้กินเจได้ชำระร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ได้สะอาดบริสุทธิ์
๓.๒ พิธีโขกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหารที่รักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ จะทำพิธีในวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ มีอาหารและเหล้าเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร
๓.๓ พิธีซ้องเก็ง เป็นพิธีการสวดมนต์ พิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่องค์กิวอ๋องไตเต้ เข้ามาประทับในศาลและจะกระทำกันทุก ๆ วันวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ
๓.๔ พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวัน ๗ ค่ำเพื่อขอความคุ้มครองให้แก่ผู้กินเจ ในพิธีบูชาดาว จะมีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์) เพื่อคุ้มครองผู้กินเจ
๓.๕ พิธีแห่เจ้า (ออกเที่ยว) เป็นพิธีที่เจ้าทั้งหมดออกเยี่ยมลูกหลานตามบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าความชั่วร้าย ศาลเจ้าแต่ละโรงจะออกเยี่ยมไม่พร้อมกัน พิธีนี้จะจัดเป็นริ้วขบวน แห่แหนไปตามถนนสายต่าง ๆ บรรดาชาวบ้านที่จะศรัทธาจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ไว้รับพระและจุดประทัดเมื่อขบวนผ่าน เจ้าองค์ที่เข้าประทับทรงจะแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารโดยใช้ของมีคม เหล็กแหลม ทิ่มแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
๓.๖ พิธีลุยไฟ เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ของเจ้า จึงมีการก่อกองไฟให้เป็นถ่านแดงระอุร้อน เจ้าที่เข้าประทับคนทรงจะเข้าไปวิ่งลุยผ่านกองไฟ เพื่อแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์และอิทธิฤทธิ์ ผู้ที่ถือศีลกินเจก็จะเข้าไปลุยไฟด้วยเพื่อให้ไฟทิพย์ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์
๓.๗ พิธีส่งพระ ทำกันในวันสุดท้ายของการกินเจ พิธีนี้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือภาคกลางวันจะส่งเทวดาเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งทำกันที่เสาธง และภาคกลางคืนจะส่งองค์กิวอ๋องไตเต้ ซึ่งจะทำกันตอนเที่ยงคืน โดยผู้กินเจจะเดินไปส่งกันที่ฝั่งน้ำเพราะเจ้าจะกลับสวรรค์ทางทะเล และทันทีที่คณะส่งเจ้าออกพ้นประตูศาลไฟทุกดวงจะต้องดับสนิท แล้วปิดประตูใหญ่ รุ่งขึ้นจะลดเสาธง เรียกทหารพร้อมกับเลี้ยงทหารและส่งกลับ เสร็จแล้วก็เปิดประตูใหญ่เมื่อได้ฤกษ์ตามวัน/เวลาที่เจ้าสั่งไว้
สาระ
พิธีกินเจ เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเว้นอบายมุขทั้งหมด และเป็นพิธีก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สมาชิกที่มาร่วมพิธี


                                                 ประเพณีให้ทานไฟ

จังหวัดนครศรีธรรมราช
ช่วงเวลา การให้ทานไฟ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนยี่ เป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นที่สุด โดยชาวบ้านจะนัดหมายไปพร้อมกันในเวลาย่ำรุ่ง หรือตอนเช้ามืดของวันไหนก็ได้
ความสำคัญ
การให้ทานไฟ เป็นการทำบุญเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในตอนเช้ามืดของคืนที่มีอากาศหนาวเย็น โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟแล้วทำขนมถวายพระ
ประวัติความเป็นมาของประเพณีให้ทานไฟ กล่าวถึงในขุนทกนิกายชาดก เรื่อง ความตระหนี่ถี่เหนียวของโกลิยะเศรษฐี ที่อยากกินขนมเบื้อง แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย ภรรยาจึงทำขนมเบื้องที่บ้านชั้นเจ็ดให้เศรษฐีได้รับประทานโดยไม่ให้ผู้ใดเห็น ขณะที่สองสามีภรรยากำลังปรุงขนมเบื้อง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบด้วยญาณ จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี พระโมคคัคลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนม จึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัคลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้ จนโกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านตน พระโมคคัลลานะแจ้งให้นำไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร โกลิยะเศรษฐีและภรรบาได้นำเข้าของเครื่องปรุงไปทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก แต่ปรุงเท่าไหร่แป้งที่เตรียมมาเพียงเล็กน้อยก็ไม่หมด พระพุทธเจ้าจึงโปรดเทศนาสั่งสอน ทั้งสองคนเกิดความปีติอิ่มเอิบในการบริจาคทาน เห็นแจ้งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน
พิธีกรรม
๑. การก่อกองไฟ ชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
๒. การทำขนมถวายพระ ขนมที่เตรียมไปปรุงที่วัดในการให้ทานไฟเป็นขนมอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ชนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ในปัจจุบันมีขนมและอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง ชาวบ้านจะปรุงขนมตามที่เตรียมเครื่องปรุงมา แล้วนำขนมที่ปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี


                                            ประเพณีตักบาตรธูปเทียน

จังหวัดนครศรีธรรมราช
ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียนมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนแปด เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ใช้ลานภายในวัดเป็นสถานที่ตักบาตรธูปเทียน
ความสำคัญ
เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน
พิธีกรรม
วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียนจึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมีย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะนำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี
สาระ
ความศรัทธาในพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีที่ควรแก่การส่งเสริมให้คงอยู่ การตักบาตรธูปเทียนให้สาระสำคัญดังนี้
๑. สะท้อนให้เห็นถึงความยึดมั่นและศรัทธาในการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามควรรักษาประเพณีไว้สืบไป ชาวนครศรีธรรมราชจึงเตรียมมัดธูป ๓ ดอกและเทียน ๑ เล่มไว้ด้วยกัน เพื่อสะดวกในการตักบาตร แต่คนส่วนใหญ่จะใช้ธูปและเทียนมัดใหญ่ เพื่อให้พระสงฆ์มีธูปเทียนใช้ตลอดพรรษา และสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือไม้ขีดไฟ เป็นของเสริม เพื่อให้พระสงฆ์มีอุปกรณ์ครบ รวมทั้งดอกไม้สดชนิดต่างๆ
๒. เป็นการอบรมให้ลูกหลานที่ไปร่วมพิธีตักบาตรธูปเทียนได้มีความรู้ความเข้าใจในประเพณีท้องถิ่น และให้ความสุขใจจากบุญกุศลที่ได้ทำ


                                            ประเพณีการแต่งงาน

จังหวัดนราธิวาส
ช่วงเวลา การแต่งงานจะกระทำกัน ๓ ขั้นตอน คือ
๑. การสู่ขอ โดยฝ่ายชายจะให้ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน ๆ เป็นเถ้าแก่ไปทาบทามสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง
๒. การหมั้น เมื่อถึงกำหนดหมั้นฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยชายผู้จะเป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย
๓. พิธีแต่งงาน โดยทั่วไปจะจัดหลังจากหมั้นและไม่เกิน ๒ สัปดาห์ โดยถือฤกษ์ ๔ -๕ โมงเย็นของวันใดวันหนึ่ง
พิธีการแต่งงานของมุสลิมจะไม่นิยมแต่งในช่วงที่ประกอบพิธีฮัจญ์
ความสำคัญ
เพื่อเป็นการสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ซึ่งหลักการต่าง ๆ จะไม่หนีหรือหลักเลี่ยงความเป็นจริง จึงถือได้ว่าเป็นทางสายกลางที่ทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์ในการเป็นคนหรือสัตว์ประเสริฐ
พิธีกรรม
๑. การสู่ขอ ในอดีตการสู่ขอฝ่ายชายจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงล้วน ไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงตกลงก็จะได้กำหนดวันหมั้น การตอบตกลงของพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่ขอความคิดเห็นจากบุตรสาวของตนเลย แต่ในปัจจุบันผู้ไปสู่ขอคืนมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายต้องไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง พร้อมกับมีของฝากฝ่ายหญิงอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้ เมื่อไปถึงแล้วก็บอกว่ามีธุระที่จะขอปรึกษาด้วย แล้วสอบถามว่าผู้หญิงที่ต้องการไปสู่ขอมีคู่หรือยัง ถ้าฝ่ายหญิงบอกว่าไม่มีก็จะบอกว่าต้องการสู่ขอให้กับใคร ฝ่ายหญิงจะไม่ตอบตกลงในตอนนั้น และจะไม่ตอบรายละเอียด แต่จะขอเวลาปรึกษากันระหว่างญาติ ๆ ประมาณ ๗ วัน ในช่วงนั้นฝ่ายหญิงอาจจะส่งคนที่นับถือไปบอกฝ่ายชายในกรณีที่ตกลง ถ้าไม่ตกลงก็จะเงียบเฉยให้เป็นที่รู้เอาเอง เมื่อฝ่ายหญิงตกลงฝ่ายชายก็จะไปตกลงเรื่องวันแต่งงาน สินสอด ของหมั้นและมะฮัร
๒. การหมั้น ในอดีตเมื่อถึงวันกำหนดหมั้น ฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่ขบวนขันหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง ฤกษ์แห่ขันหมากใช้เวลาตอนเย็นประมาณ ๔-๕ โมงเย็น "ขันหมาก" ประกอบด้วยพาน ๓ พาน คือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม แต่บางรายที่เป็นผู้มีฐานะดีก็อาจจะเพิ่มพานขนมขึ้นอีกก็ได้ พานหมากพลูนั้นจะมีเงินสินสอดใส่ไว้ใต้พานหมากพลู เงินจำนวนนี้เรียกว่า ลาเปะซีเฆะ หรือ เงินรองพลู ส่วนพานขนมนั้นประกอบด้วย ขนมก้อ (ตูปงปูตู) ข้าวพองและขนมก้อนน้ำตาล (ตูปงฮะลูวอคีแม) เป็นต้น ขันหมากดังกล่าวทุกพานคลุมด้วยผ้าสีสวย เมื่อขบวนขันหมากไปถึงบ้านฝ่ายหญิงก็ให้การต้อนรับ เถ้าแก่ฝ่ายชายจะบอกกล่าวขึ้นว่า "วันนี้ (ออกชื่อเจ้าบ่าว)ได้เอาของมาหมั้น (ชื่อเจ้าสาว) แล้ว" เมื่อเถ้าแก่ฝ่ายหญิง
รับของหมั้นแล้ว เถ้าแก่ฝ่ายชายจะถามต่อไปทันทีว่า "เงินหัวขันหมากนั้นเท่าใด" ซึ่งเถ้าแก่ฝ่ายหญิงจะต้องตอบไปจากนั้นเป็นการปรึกษาหารือถึงกำหนดวันแต่งงาน วันจัดงาน และการกินเลี้ยง และก่อนฝ่ายชายจะกลับฝ่ายหญิงจะนำผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงบาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่งใส่พานที่ใส่หมากพลูมาหมั้น ส่วนพานข้าวเหนียวเหลืองและพานขนมก็จะได้รับขนมจากฝ่ายหญิงใส่พานนำกลับ

การหมั้นในปัจจุบันจะทำได้ ๒ ลักษณะคือ หมั้นก่อนแต่งทำพิธีนิกะห์(การแต่งงานตามหลักศาสนา) หรือหมั้นหลังทำพิธีนิกะห์ ซึ่งจะเป็นผลดีและมีข้อห้ามต่างกัน กล่าวคือถ้าหมั้นก่อนแต่งงานเจ้าบ่าวจะถูกต้องตัวเจ้าสาวไม่ได้ ส่วนการหมั้นหลังพิธีนิกะห์แล้ว เจ้าบ่าวสามารถถูกต้องตัวเจ้าสาวได้ เจ้าบ่าวจึงสวมของหมั้นให้กับเจ้าสาวได้และสามารถจัดพิธีนั่งบัลลังก์เพื่อให้ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมแสดงความยินดีได้อย่างสมเกียรติ ส่วนขันหมากมีการจัดคล้ายกับในอดีต
๓. พิธีแต่งงาน ในอดีตพิธีแต่งงานโดยทั่วไปจะจัดหลังหมั้นแล้วไม่เกิน ๒ สัปดาห์ โดยถือฤกษ์๔-๕ โมงเย็นของวันใดวันหนึ่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวจะยกขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาว ขบวนดังกล่าวนี้ประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ประมาณ ๕-๖ คน การไปคราวนี้ไม่มีข้าวของอะไรต้องนำไป นอกจากเงินหัวขันหมาก (จะต้องเป็นจำนวนเลขคี่) ซึ่งใส่ไว้ในขันหมากทองเหลืองใบเล็ก ๆ ห่อหุ้มด้วยผ้าเช็ดหน้าให้เจ้าบ่าวถือไป และกล้วยพันธุ์ดี เช่น กล้วยหอมอีก ๒-๓ หวี เท่านั้น ในวันดังกล่าวทางบ้านเจ้าสาวก็เตรียมการต้อนรับโดยเชิญโต๊ะอิหม่ามเป็นประธานในพิธีแต่งงาน พร้อมด้วยคอเต็มและผู้ทรงคุณธรรมอีก ๑ คน เพื่อเป็นสักขีพยาน ผู้ทรงคุณธรรมดังกล่าวนั้นจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลอื่นก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่คน ๆ นั้นต้องเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นคนมีศีลสัตย์ เมื่อหัวขันหมากไปถึงบ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวก็ให้การต้อนรับ โอกาสนี้เจ้าบ่าวต้องส่งมอบห่อเงินหัวขันหมากให้กับโต๊ะอิหม่าม เพื่อโต๊ะอิหม่ามจะได้ตรวจนับให้ถูกต้องครบถ้วนและควบคุมเงินหัวขันหมากนั้นไว้ จากนั้นก็มีการร่วมรับประทานอาหารกัน สำหรับตัวเจ้าสาวนั้นเก็บตัวอยู่ในห้องหรือในครัวเท่านั้น หลังจากการเลี้ยงอาหารผ่านไปแล้วเจ้าบ่าวไปนั่งขัดสมาธิลงตรงเบื้องหน้าโต๊ะอิหม่าม โอกาสนี้พ่อเจ้าบ่าวจะไปถามเจ้าสาวว่ายินยอมหรือไม่ การถามตอบในครั้งนี้จะมีพยานอยู่ใกล้ ๆ หากหญิงสาวไม่ยินยอมก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ที่สามารถอ้อนวอนเกลี่ยกล่อมจิตใจสาวจนยอมเข้าพิธี เมื่อตกปากยินยอมพยาน ๒ คน รับทราบด้วยแล้วก็ดำเนินการขั้นตอนต่อไป ดำเนินการขั้นต่อไปโดยพ่อหรือผู้ปกครอง (ต้องเป็นชาย) ของเจ้าสาว "วอเกล์" กับโต๊ะอิหม่าม บิดาจะต้องเป็นผู้จัดการแต่งงานให้บุตรสาว
ของตน แต่เมื่อผู้เป็นบิดาไม่มีความรู้ ความเข้าใจในพิธีปฏิบัติก็ให้มอบหมายให้ผู้อื่น ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจปฏิบัติแทน จากนั้นจะมีการท่องเที่ยวหรืออ่านศาสนบัญญัติที่เกี่ยวกับการแต่งงานเรียกว่า "บาจอกุฐตึเบาะห์ ซึ่งอ่านโดยคอเติบหรือโต๊ะอิหม่ามจบจาก "บาจอกุฐตึเบาะห์" แล้ว โต๊ะอิหม่ามก็ยื่นมือไปจับปลายนิ้วมือของเจ้าบ่าวนิ้วหนึ่ง นิ้วใดก็ได้เพียงนิ้วเดียวพร้อมกับเริ่มประกอบพิธีแต่งงานให้โดยกล่าววาจาเป็นสำคัญ โดยโต๊ะอิหม่ามก็จะกล่าวดังนี้ "ยา…อับดุลเลาะห์ อากูนิกะห์ อากันดีเกา บาร์วอเกล์วอ ลีบาเปาะญอ อากันดากู ดืองันฮาลีเมาะ เป็นตีมูฮำมัด อีซีกะห์ เว็นซะบาเญาะญอ สะราโต๊ะตฆอปูและ ตีโยโก๊ะตูนา" แล้วเจ้าบ่าวต้องกล่าวตอบรับตาม "อากูตรีมอ นิกะห์ญอ คืองันอีซีกะห์ เว็บซะบาเญาะ ตึรึซึโมะอีตู" แปลว่า ได้ยอมรับการ
แต่งงาน ตามจำนวนเงินหัวขันหมากดังกล่าว
สาระ
ตามกฏเกณฑ์อิสลามนั้นการสมรสหมายถึง ชายหญิงได้ผูกจิตสัมพันธ์เพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา โดยถูกต้องตามพิธีนิกะห์ คำว่าแต่งงานภาษาอาหรับเรียกว่า "นิกะฮ์" มีความหมายว่า การกระทำพิธีแต่งงานภายใต้หลักเกณฑ์ และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลาม หรือ คำว่า นิกะห์ คือ การผูกปิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เพื่อเป็นสามีภรรยากัน โดยพิธีสมรสตามหลักการของศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
คำว่าแต่งงานในศาสนาอิสลาม จึงเรียกว่านิกะห์ ซึ่งชายคนหนึ่ง จะแต่งงานกับหญิงได้อย่างมากที่สุดในขณะเดียวกันอย่างที่สุด ๔ คน คือ หมายความว่า ชายคนหนึ่งจะมีภรรยาได้ในขณะเดียวกัน อย่างมากที่สุด ๔ คน แต่มีข้อบังคับว่าชายผู้นั้นจะต้องเลี้ยงดู ให้ความยุติธรรมกับภรรยาทั้งหมดได้ ถ้าไม่มีความสามารถแล้วก็ให้มีเพียงคนเดียวเท่านั้น



                                           ประเพณีการแข่งเรือยอกอง

จังหวัดนราธิวาส
ความสำคัญของประเพณี
ประเพณีการแข่งเรือยอกอง หรือที่ชาวนราธิวาสเรียกว่า "คอฆอล" ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของคนท้องถิ่นในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเรียกตามลักษณะของเรือ เพราะมีขนาดไม่เล็กและไม่ใหญ่ ซึ่งมีความสวยงามมาก ถ้ายิ่งเรือที่ประกอบเสร็จใหม่ จะมีการทาสีตกแต่งลวดลายอันประณีตบรรจงอย่างสวยงามมาก ซึ่งในอดีตเรือตัวนี้จะมีการนำเรือยอกองมาใช้ในการประกอบอาชีพการทำประมงจนถึงในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ การแข่งขันเรือยอกองได้เริ่มมีการแข่งขันใน พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้หยุดไประยะหนึ่ง แล้วได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ได้มีการจัดการแข่งขันเรือยอกอง อย่างจริงจังขึ้น พร้อม ๆ กับการแข่งขันเรือกอและ และเรือยาว ซึ่งเรือทั้ง ๒ ประเภทนี้ได้จัดให้มีการแข่งขันมานานแล้ว และเรือยอกองยังได้เป็นเรือประเภทหนึ่งที่ได้ทำการแข่งขันหน้าพระที่นั่ง ซึ่งเรือที่ชนะจะได้รับรางวับถ้วพระราชทาน
ช่วงเวลาที่มีการแข่งขันเรือยอกอง
การแข่งขันเรือยอกองหรือคอฆอลนั้นได้จัดให้มีประเพณีการแข่งขันกัน ตามโอกาส หรือเมื่อมีพิธีการต่าง ๆ โดยเฉพาะในการแข่งขันหน้าพระที่นั่งเป็นประจำทุกปี ที่มีการแปรพระราชฐานพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
พิธีกรรมของการแข่งเรือยอกอง
ในการแข่งขันเรือยอกองนั้นได้มีการจัดแบ่งการแข่งขันดอกเป็น ๒ ประเภท คือ
ประเภทชาย จะมีฝีพาย ๕ คน ระยะทาง ๕๐๐ เมตร
ประเภทหญิง จะมีฝีพาย ๕ คน ระยะทาง ๓๐๐ เมตร และมีการสวมเสื้อชูชีพด้วย
และจะมีความเชื่อเป็นส่วนบุคคลในการแข่งขันเรือยอกองเพื่อที่จะทำให้เรือของตนนั้นเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน



                                               ประเพณีแห่นก

จังหวัดปัตตานี
ช่วงเวลา จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง หรือจัดเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือโอกาสต้อนรับแขกเมือง หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
ความสำคัญ
เป็นประเพณีพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์
พิธีกรรม
นกที่ใช้ในประเพณีแห่นก นิยมทำ ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเมาะซูรอหรือนกการะสุระ ชาวพื้นเมืองเรียก "นกทูนพลู" หรือตามสันนิษฐานคือ "นกการเวก" นั่นเอง ถือว่าเป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและชั้นสูง
๒. นกกรุดาหรือนกครุฑ นกนี้เชื่อว่ามีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศเจ็บไข้ได้ป่วย ปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำเข้าขบวนแห่
๓. นกบือเฆามาศหรือนกยูงทอง เป็นนกที่มีหงอนสวยงามมาก
๔. นกบุหรงหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ เมื่อประดิษฐ์นกเสร็จ มีการสวมหัวนก จะจัดเป็นพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีประกอบด้วย ผ้าเพดานสำหรับขึงหัวนก ๑ ผืน ขนาด ๑ ตารางเมตร ข้าวเหนียวสมางัต ๑ พาน ขนมดอดอย ๑ จาน ข้าสาร (ย้อมสีเหลือง) ๑ จาน แป้ง น้ำหอม กำยาน เทียน ทอง เงิน เงินค่าบูชาครู ๑๒ บาท และใช้ใบอ่อนของมะพร้าว ๒ - ๓ ใบ เครื่องบวงสรวงจะนำไปวางเบื่องงหน้าหัวนก ผู้ประกอบพิธีจุดเทียน เผากำยานแล้วท่องคาถา เป็นอันเสร็จพิธี
การจัดขบวนแห่นก ประกอบด้วยขบวนต่าง ๆ ดังนี้
ขบวนแรก ได้แก่ เครื่องประโคมสำหรับประโคมดนตรี นำหน้าขบวนนก ประกอบด้วย คนเป่าปี่ชวา ๑ คน กลองแจก ๑ คู่ ฆ้องใหญ่ ๑ ใบ ถัดมาเป็นขบวนบุหรงสิรี(บายศรี) ผู้ทูนบายศรีต้องเป็นสตรีที่ได้รับเลือกเฟ้นจากผู้ที่มีเรือนร่างได้สัดส่วน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีตามประเพณีท้องถิ่น พานบายศรี ใช้พานทองเหลือง ใช้จำนวนคี่
ขบวนที่สอง เป็นผู้ดูแลนก แต่งกายนักรบมือถือกริซนำหน้านก ซึ่งจะเลือกจากผู้ชำนาญการร่ายรำซีละ กริซ รำหอก
ขบวนที่สาม เป็นขบวนนก ๔ ตัว จำนวนคนหามนกแล้วแต่ขนาดและน้ำหนักของนก
ขบวนที่สี่ เป็นขบวนกริซ ขบวนหอก ผู้ร่วมขบวนแต่งกายอย่างนักรบสมัยโบราณ


                                             ประเพณีวันสารทเดือน ๑๐

จังหวัดพังงา
ประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือการทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีการทำบุญให้กับวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยความเชื่อของชาวพุทธที่เชื่อว่าในวันสารทเดือนสิบนี้ ยมบาลจะปล่อยให้วิญญาณทั้งหลายที่รับกรรมอยู่ในนรกที่เรียกว่า "เปรต" นั้นขึ้นมารับส่วนบุญที่บรรดาญาติที่มีชีวิตอยู่ทำบุญอุทิศไปให้ การทำบุญเดือนสิบในจังหวัดพังงา จะมี ๒ ครั้ง คือ วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๐ กับ วันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยจะเริ่มด้วยการทอดผ้าป่า ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระในตอนเช้า ตอนบ่ายทำพิธีตั้งเปรต คือนำขนมต่างๆ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมเทียน ขนมห่อ ขนมบัวจอก ขนมวงแหวน ขนมไข่ปลา ฯลฯ ที่สำคัญคือ กระยาสารท นำใส่ในกระทงไปวางไว้ยังโรงที่ทางวัดสร้างขึ้น เพื่อให้พระทำพิธีบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่
ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นจะมี"ชาวเล" (ชนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะมาเก็บของและขนมต่างๆ เป็นประจำทุกปี)มาเก็บเอาไป โดยเขาจะแย่งกันอย่างสนุกสนานเรียกว่า"ชิงเปรต" นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมที่สำคัญที่นิยมเล่น คือการแข่งขันปืนเสาน้ำมัน เป็นต้น



                                                 ประเพณีชิงเปรต

จังหวัดพัทลุง
ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ความสำคัญ
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น
พิธีกรรม
การตั้งเปรต และชิงเปรตจะกระทำกันในวันที่ยกหมรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ หรือ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ส่วนมากเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดอย่างละหน่อย ขนมที่ไม่ขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเบซำ(ดีซำ) นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ธูปเทียน นำลงจัดในหมรับ โดยเอาของแห้งรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหมรับ
ที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต" ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลา หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียก "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลายนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่าการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อให้มีผลดก หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์โดยไปที่ละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างนุกสนาน
สาระ
การทำบุญวันสารท เดือน ๑๐ กำหนดทำ ๒ ครั้ง คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยเชื่อว่า วันแรม ๑ ค่ำ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยให้เปรต หรือเปตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลาน ๆ ก็จะทำบุญเลี้ยงต้อนรับ เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ ก็ถือว่าเป็นวันที่ปู่ย่าตายาย ต้องกลับยมโลก ลูกหลานก็ทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง
การเตรียมข้าวของ ขนม ในวันทำบุญ เดือน ๑๐
๑. ลา มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้า
๒. พอง มีความหมายว่าเป็นเครื่องประดับ
๓. ขนมเบซำ (ขนมเจาะหู) ใช้แทนเงิน หรือสตางค์มีรูในสมัยก่อน
๔. ขนมบ้า มีความหมายว่า เงินเหรียญ
๕. ขนมเทียน ใช้แทนหมอนหนุน
การชิงเปรต เป็นประเพณีที่ชาวพัทลุงถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีสำคัญที่กระทำกันจนทุกวันนี้ ชาวพัทลุงแม้จะไปทำมาหากินในท้องถิ่นอื่น เมื่อถึงเดือน ๑๐ ก็มักจะกลับมาร่วมพิธีกับญาติทางบ้าน นับเป็นการช่วยเสริมการผูกพันระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้อง ทั้งยังเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และคุณงามความดีของบรรพบุรุษของตน แม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม