ภาคอีสาน northeast



                                    ประเพณีฮีบสิบสอง

จังหวัดกาฬสินธุ์


                                                      


ช่วงเวลา ความสำคัญ พิธีกรรม และ สาระ
ประเพณีท้องถิ่นกาฬสินธุ์ ยังยึดถือ และปฏิบัติตามฮีตสิบสอง คำว่า "ฮีต" หมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี แบบแผนฮีตที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ๑๒ อย่าง ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า "บุญ" ดังนี้
๑. บุญข้าวกรรม
เกี่ยวกับพระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นอาบัติ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในระหว่างภิกษุเข้ากรรม ญาติ โยม สาธุชน ผู้หวังบุญกุศล จะไปร่วมทำบุญบริจาคทาน รักษาศีลเจริญภาวนา และฟังธรรม เป็นการร่วมทำบุญระหว่างพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้าน
กำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนอ้าย"
๒. บุญคูนลาน
การทำบุญคูนลาน จะทำที่วัด หรือที่บ้านก็ได้ โดยชาวบ้านจะเอาข้าวมารวมกัน แล้วนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรม วนด้ายสายสิญจน์บริเวณรอบกองข้าว ตอนเช้ามีการถวายอาหารบิณฑบาต และนำเอาน้ำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว ถ้าทำที่บ้านเรียกว่า "บุญกุ้มข้าว"
กำหนดในเดือนยี่ เรียกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนยี่
๓. บุญข้าวจี่
เดือนสามชาวบ้านนิยมทำบุญข้าวจี่ เพื่อถวายพระ เป็นการละทานชนิดหนึ่ง และถือว่าได้รับอานิสงส์มากงานหนึ่ง  

กำหนดทำบุญในเดือนสาม
๔. บุญพระเวส
บุญที่มีการเทศพระเวส หรือบุญมหาชาติ หนังสือมหาชาติเป็นหนังสือชาดกที่แสดงจริยวัตรของพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร
กำหนดทำบุญเดือนสี่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนสี่"


                                                      


๕. บุญสรงน้ำ
บุญสรงน้ำ มีการรดน้ำ หรือสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ มีการทำบุญทำทาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญตรุษสงกรานต์"
กำหนดทำบุญในเดือน ห้า
๖. บุญบั้งไฟ
ก่อนการทำนาชาวบ้านในจังหวัดในภาคอิสาน จะมีการฉลองอย่างสนุกสนาน โดยการจุดบั้งไฟ เพื่อไปบอกพญาแถน เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล มีการตกแต่งบั้งไฟให้สวยงามนำมาประกวดแห่ แข่งขันกันในวันรุ่งขึ้น กำหนดทำบุญในเดือน หก
๗. บุญซำฮะ
ซำฮะ คือการชำระล้างสิ่งสกปรก รกรุงรังให้สะอาดหมดจด เมื่อถึงเดือน ๗ ชาวบ้านจะรวมกันทำบุญโดยยึดเอา "ผาม หรือศาลากลางบ้าน" เป็นสถานที่ทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน โอน้ำ ฝ้ายใน ไหมหลอด ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายมารวมกันที่ ผามหรือศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าถวายอาหาร เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะนำน้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายของตนกลับบ้าน นำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน ทรายนำไปหว่านรอบบ้าน ฝ้ายผูกแขนนำไปผุกข้อมือลูกหลานเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลตลอดปี ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการสวดถอด เป็นต้น
กำหนด ทำบุญในเดือน ๗
๘. บุญเข้าพรรษา
ในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ ส่วนคฤหัสถ์ก็จะต้องบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มเปี่ยม ตอนเช้าญาติโยมจะนำอาหารมาถวายพระภิกษุ ตอนบ่ายนำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวสาร ผ้าอาบน้ำฝน รวมกันที่ศาลาวัด ตอนเย็นญาติโยมพากันทำวัตรเย็นแล้วฟังเทศน์
กำหนด วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือน ๘"


                                                            


๙. บุญข้าวประดับดิน
ห่ออาหาร และของขบเคี้ยวเป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายวางแบไว้กับดิน จึงเรียกว่า "บุญข้าวประดับดิน" ชาวบ้านจะจัดอาหารคาว หวาน และหมากพลู บุหรี่ กะว่าให้ได้ ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ เลี้ยงดูกันในครอบครัว
ส่วนที่ ๒ แจกให้ญาติพี่น้อง
ส่วนที่ ๓ อุทิศไปให้ญาติที่ตาย
ส่วนที่ ๔ นำไปถวายพระสงฆ์
ทำเป็นห่อๆให้ได้พอควร โดยนำใบตองกล้วย มาห่อของคาว หวาน หมากพลู บุหรี่ แล้วเย็บรวมกันเป็นห่อใหญ่ ในระหว่าง เช้ามืดในวันรุ่งขึ้นจะนำห่อเหล่านี้ไปวางไว้บริเวณวัด ด้วยถือว่าญาติพี่น้องจะมารับของที่นั่น (เชื่อกันว่าเป็นวันยมทูตเปิดนรกชั่วคราว ให้สัตว์นรก มารับของทานในระยะหนึ่ง และยังถือว่าเป็นวันกตัญญูอีกด้วย) ตอนเช้านำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระ ฟังพระธรรมเทศนา เสร็จแล้วทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
กำหนดทำบุญในเดือน ๙
๑๐. บุญข้าวสาก
การเขียนชื่อลงในพาข้าว (สำรับกับข้าว) เรียกว่าข้าวสาก (สลาก) ญาติโยมจะจัดอาหารเป็นห่อๆ แล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ โดยทำกันในตอนกลางวัน ก่อนเพล เป็นอาหาร คาว หวาน พอถึงเวลา ๔ โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจะนำพาข้าว (สำรับกับข้าว) ของตนมารวมกัน ณ ศาลาการเปรียญ เจ้าภาพจะเขียนชื่อลงในกระดาษม้วนลงในบาตร เมื่อพร้อมแล้วหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต จบแล้วยกบาตรสลากไปให้พระจับ ถูกชื่อใคร ก็ให้ไปถวายพระองค์นั้น ก่อนจะถวายพาข้าวให้นำพาข้าว ๑ พา มาวางหน้าพระเถระ แล้วให้พระเถระ กล่าวคำอุปโลกน์
กำหนด บุญข้าวสากนิยมทำกันในเดือน ๑๐
๑๑. บุญออกพรรษา
การทำบุญออกพรรษานี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีโอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปอบรมศีลธรรม หรือไปเยี่ยม ถามข่าวคราว ญาติพี่น้องได้ และภิกษุสงฆ์สามารถหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนได้
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีการตีระฆังให้พระสงฆ์ไปรวมกันที่โบสถ์แสดงอาบัติเช้า จบแล้วมีการปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้
กำหนด บุญออกพรรษาในเดือน ๑๑
๑๒. บุญกฐิน
ผ้าที่ใช้สดึงทำเป็นกรอบขึงเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผู้ใดศรัทธา ปรารถนาจะถวายผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งให้เขียนสลาก (ใบจอง) ไปติดไว้ที่ผนังโบสถ์ หรือศาลาวัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้อื่นจองทับ เมื่อถึงวันกำหนดก็บอกญาติโยมให้มาร่วมทำบุญ มีมหรสพสมโภช และฟังเทศน์ รุ่งเช้าก็นำผ้ากฐินไปทอดถวายที่วัดเป็นอันเสร็จพิธี
กำหนด ทำบุญระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒


                                         ประเพณีผูกเสี่ยว

 จังหวัดขอนแก่น


                                                         


ช่วงเวลา วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน-๑๐ ธันวาคม ของทุกปี
ความสำคัญ
งานเทศกาลไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน


                                                                


พิธีกรรม
อุปกรณ์ที่สำคัญมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน
เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน เป็นอันเสร็จพิธี
สาระ
เรียกขวัญเพื่อเป็นการเตือนสติให้รู้จักภาวะของตนเอง เช่น จะแต่งงาน บวช หรือเสี่ยว จะต้องปฏิบัติอย่างไร เชื่อกันว่า ขวัญสิงสถิตอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจ เมื่อทำพิธีเรียกขวัญแล้วก็จะเกิดพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็งได้


                          ประเพณีงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี

จังหวัดนครราชสีมา


                                                             


ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม - ๓ เมษายน ของทุกปี
ความสำคัญ
เป็นงานประจำปีของจังหวัดซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๓ มีนาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ได้รับชัยชนะจากข้าศึก เพราะวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ คือวันที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมา จึงเป็นงานประเพณีทำให้ระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยราชการและภาคเอกชน รวมทั้งกิจกรรมบันเทิงที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน


                                                            


พิธีกรรม
พิธีกรรมที่จัดขึ้นในงามที่จัดขึ้นในงานของท้าวสุรนารี เริ่มต้นครั้งแรกใน ปี พุทธศักราช ๒๔๗๗ มีการบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พิธีจุดพลุสี่มุมเมือง นอกจากนี้ในอดีตเคยมีการจัดการแสดงละครเรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารี ให้เป็นกิจกรรมหลักของงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานระลึกถึงความกล้าหาญในวีรกรรมครั้งนั้น


                                                         


สาระ
กิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พลเมือง เป็นแบบอย่างให้กับพลเมืองได้ตระหนักถึงบุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคล


                                           ประเพณีบุญเบิกฟ้า

จังหวัดมหาสารคาม


                                                     


ช่วงเวลา วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี (อยู่ระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์)
ความสำคัญ
ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้นตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น ๆ
ตำนานโบราณกล่าวถึงทิศที่ฟ้าร้องว่า
๑. ทิศบูรพา มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
๒. ทิศอาคเนย์ มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
๓. ทิศทักษิณ มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะมาก น้ำจะท่วมข้าวกล้าในนาเสียหายถึงสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
๔. ทิศหรดี มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูชิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
๕. ทิศปัจจิม มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก
๖. ทิศพายัพ มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหินถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนจักป่วยไข้
๗. ทิศอุดร มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีสุขทั่วหน้า
๘. ทิศอีสาน มีงัวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดีตลอดปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า
ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว ชาวมหาสารคามจึงมีประเพณีบุญเบิกฟ้า (เดิมเรียกว่าบุญเบิกบ้าน) เพื่อขอพรจากแถน (เทพผู้เป็นใหญ่) ให้ไขประตูฟ้าทางทิศที่เป็นมงคล
อนึ่งในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น ๓ อย่างคือ
๑. กบไม่มีปาก คือจะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดรูกบเป็นอันว่าวันนั้นกบจำศีล ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ๆ เป็นอาหาร
๒. นากไม่มีรูทวาร คือมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาก เป็นอันว่านากจะไม่ขับถ่ายในวันนั้น เพราะไม่ได้กินอาหาร
๓. มะขามป้อมจะมีรสหวาน


                                                            


พิธีกรรม
พิธีกรรมบุญเบิกฟ้า มี ๔ อย่างคือ
๑. จัดพิธีสู่ขวัญข้าว ชาวอีสานเรียกว่าทำบุญตุ้มปากเล้า
๒. หาบปุ๋ยคอก (ชาวอีสานเรียกว่าฝุ่น)ไปใส่ผืนนา
๓. ทำบุญเฮือน (ทำร่วมกับทำบุญปากเล้า)
๔. นำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด
มีลำดับขั้นตอนการทำพิธีต่าง ๆ ดังนี้
๑. พิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อความสบายใจในการซื้อขายข้าว และเพื่อให้การแบ่งปันข้าวแก่ญาติมิตรผู้มาร่วมพิธี
เครื่องบูชาหรือเครื่องคายในพิธีสู่ขวัญข้าว
๑. ใบคูน ๙ ใบ
๒. ใบยอ ๙ ใบ
๓. ขันหมากเบ็ง (พานบายศรี)ห้าชั้น ๒ ขัน
๔. กระทงใหญ่เก้าห้อง ใส่เครื่องบัดพลีต่าง ๆ มีหมากพลู บุหรี่ ข้าวตอก ดอกสามปีบ่เหี่ยว (บานไม่รู้โรย) ดอกรัก ถั่วงา อาหารคาวหวาน หมากไม้ เหล้าไห ไก่ตัว ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด เผือก มัน มันแข็ง มันอ่อน มันนก ข้าวต้มใส่น้ำอ้อย
๕. ต้นกล้วย
๖. ต้นอ้อย
๗. ขัน ๕ ขัน ๘ (พานใส่ดอกไม้และเทียนจำนวนอย่างละ ๕ คู่และ ๘ คู่ ตามลำดับ)
๘. เทียนกิ่ง
๙. ธูป
๑๐. ประทีป
๑๑. แป้งหอม
๑๒. น้ำหอม
๑๓. พานใส่แหวน หวี กระจก
๑๔. เครื่องนอน มีสาดอ่อน (เสื่อ) หมอนลาย หมอนพิง แป้งน้ำ
๑๕. ฟักแฟง ฟักทอง กล้วยตานี กล้วยอีออง (กล้วยน้ำว้า)
๑๖. เงินคาย ๑ บาทกับ ๑ เฟื้อง


                                               


พิธีกรรม
๑. จัดเครื่องบูชาวางไว้บนกองข้าว ในยุ้งฉางข้าวมีผ้าขาวปูรองรับ โยงด้ายสายสิญจน์ จากเครื่องบูชานั้น โยงไปรอบยุ้งและไปยังเรือนเจ้าของยุ้ง
๒. หมอสูตรหรือเจ้าพิธีจะนุ่งขาวห่มขาวแบบพราหมณ์ ถือหนังสือใบลานก้อมเรื่องคำสูตรขวัญข้าวขึ้นไปที่ยุ้ง นั่งลงตรงหน้าเครื่องบูชา หันหน้าไปทางทิศที่เป็นมงคลประจำวัน ไหว้พระรัตนตรัย ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดาแล้วอ่านคำสูตรขวัญข้าวจากหนังสือก้อม
๓. ในขณะที่หมอสูตรกำลังร่ายคำอยู่นั้น จะมีคน ๒ คน ยืนระวังอยู่ ๒ ข้างประตูยุ้งฉาง คอยส่งเสียงร้องเรียกขวัญข้าวเป็นระยะ ๆ สอดคล้องกับคำสูตรของหมอสูตร
๔. เมื่อหมอสูตรว่าคำสูตรจบลงเป็นอันเสร็จพิธี แต่เครื่องบูชาทั้งหลายให้วางไว้ที่เดิมอีก ๗ วัน เว้นแต่มีสิ่งใดที่เน่าบูดก็เก็บออกได้
๕. ห้ามทำการตักข้าวออกจากยุ้งฉางก่อนจะครบ ๗ วัน หลังจากทำพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว
๒. พิธีหาบฝุ่น(ปุ๋ยคอก)ใส่ผืนนาเพื่อบำรุงดิน
พิธีการ
ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ชาวนาจะต้องหาบปุ๋ยคอกจากกองมูลวัว มูลควาย ซึ่งมักอยู่ใต้ถุนเรือนของตน ทยอยออกไปใส่ผืนนา จนกระทั่งถึงเที่ยงวัน จึงหยุด เป็นการเริ่มต้นเอาฝุ่น (ปุ๋ยคอก) ใส่นาในปีนั้น
๓. พิธีทำบุญเฮือน
เพื่อนำสิริมงคลจากพระรัตนตรัยมาสู่ที่อยู่อาศัย
พิธีการ
ตอนเย็นนิมนต์พระภิกษุจำนวน ๕ หรือ ๙ รูป มาสวดมนต์เย็นที่บ้าน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นนิมนต์พระสงฆ์ชุดเดิมมาสวดมนต์เช้าที่บ้านแล้วทำบุญตักบาตรและถวายจังหันเช้า
๔. พิธีนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงมาถวายวัด
เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ เนื่องจากคนอีสานโบราณนั้นมีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา เมื่อได้สิ่งที่ดี ๆ ต้องนำไปถวายพระก่อน สมัยก่อนในวัดทุกวัดจะมียุ้งฉางข้าว (เล้าข้าว) ปลูกไว้ด้วย เมื่อญาติโยมบริจาคข้าวเปลือกก็นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เอาไว้แจกทานต่อผู้ยากไร้ในโอกาสต่อไป
พิธีการ
เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จะตรงกับช่วงที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาสู่เล้าหรือยุ้งฉางเสร็จใหม่ ๆ ชาวอีสานมีข้อคะลำหรือขะลำ (ข้อควรระวังหรือข้อห้าม) เกี่ยวกับข้าวว่า
๑. ถ้ายังไม่ทำพิธีสู่ขวัญข้าวห้ามตักข้าวออกจากยุ้งฉาง ถ้าจำเป็นต้องใช้บริโภคต้องกันจำนวนหนึ่งไว้ต่างหาก
๒. ห้ามตักข้าวในยุ้งฉางในวันศีลน้อยใหญ่ (วัน ๗-๘ ค่ำ และวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ ทั้งขึ้นและแรม)
๓. ก่อนตักข้าวทุกครั้ง ต้องนั่งลงยกมือขึ้นพนมแล้วกล่าวคาถาว่า "บุญข้าว บุญน้ำเอย กินอย่าให้บก จกอย่าให้ลง" แล้วจึงตักได้
ดังนั้น ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จึงมีพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีต้มปากเล้า พิธีเอาบุญเฮือน และตอนบ่าย ๆ ของวันนั้นจะนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด แล้วจึงใช้ข้าวในยุ้งฉางเป็นประโยชน์ได้ตามอัธยาศัย



                                ประเพณีบุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)

จังหวัดยโสธร


                                                               


ช่วงเวลา เดือนตุลาคม (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐)
ความสำคัญ ประเพณีบุญข้าวสาก เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต


                                                                


พิธีกรรม ประกอบด้วย
๑. วันเตรียมข้าวสาก วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ข้าวสาก (ภาษากลางเรียกข้าวกระยาสารท) คือการเอาข้าวเม่าพอง คลุกกับข้าวตอกแตก แล้วใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่ว งา แล้วคลุกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ทำทาน
๒. ในตอนเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจะนำอาหารไปตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว หลังจากพระสงฆ์ฉันจังหันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์
๓. พอถึงตอนเพลจะเป็นพิธีแจกข้าวสาก ข้าวสากที่จะนำไปแจกนั้น จะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัวกลัดท้ายมีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับส้นตอง เย็บติดกันเป็นคู่ๆ ของที่ใส่ในห่อได้แก่ ข้าวต้ม ข้าวสาก ปลา เนื้อ หมาก พลู และบุหรี่ พิธีแจกก็เอาห้อยไว้ตามต้นไม้หรือตามรั้ว พอเสร็จหมดก็ตีกลองหรือโปงให้สัญญาณบอกเปรตมารับเอา หลังจากนั้นก็แย่งกันเก็บคืน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "แย่งเปรต" ภาษาอีสานเรียกว่า "ยาดข้าวสาก" เก็บมาแล้วเอาไปใส่ตามไร่นา ตามตาแฮก เพื่อให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์


                                                             


สาระ
เป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต


                               ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (บุญเดือนเก้า)

จังหวัดยโสธร

  

                                         



ช่วงเวลา เดือนกันยายน (วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙)
ความสำคัญ
ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต


                                                             


พิธีกรรม ประกอบด้วย
๑. วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้
๒. วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี ๔ นำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทงหรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสาก แล้ววางแจกตามบริเวณวัด โดยวางไว้กับพื้นดิน หรือบางคนก็ฝังดิน
๓. ชาวบ้านกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่ง เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน


                                                             


สาระ
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง ความว่า "ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทางโลกได้ทราบ


                                                           


และทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม ๑๕ ค่ำ)จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน"


                                                         


สาเหตุที่ต้องทำพิธีตั้งแต่เช้ามืดเพราะเชื่อว่าพญายมราชปล่อยผีเปรตให้มีเวลาอยู่บนโลกมนุษย์เพียง ๒ ชั่วโมง จากตี ๔ ถึง ๖ โมงเช้า และที่ต้องวางเครื่องไทยทานไว้กับพื้นดินนั้นเพื่อให้เปรตรับเอาง่ายๆ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เดี่ยวจะกลับไม่ทันเวลา


                                                ประเพณีแห่ผีตาโขน

จังหวัด เลย


                                                           



ช่วงเวลา ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี
ความสำคัญ
การละเล่นผีตาโขนมีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย แสดงในงาน "บุญหลวง" ซึ่งเป็นการรวมเอาบุญผะเหวดและบุญบั้งไฟเป็นบุญเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต


                                                             


พิธีกรรม
มีการจัดทำพิธี ๒ วัน คือ วันแรก (วันโฮม) ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้ ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด ๓ รอบ ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน หลังจากเสร็จพิธีการแห่แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์


                                                        


การละเล่นผีตาโขนนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้พบเห็น มีการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้ง นำมาตกแต่งเป็นหน้ากาก โดยการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู นำเอาหวดนึ่งข้าว โดยกดดันหวดให้เป็นรอยบุ๋มหงายปากหวดขึ้น เพื่อสวมศีรษะแต่งแต้มสีสันให้น่าดู ส่วนชุดที่สวมใส่ทำมาจากเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกัน อุปกรณ์ในการละเล่นมี ๒ ชิ้น คือ "หมากกระแหล่ง" มีไว้เพื่อเขย่าทำให้เกิดเสียงดังในเวลาเดิน และ "อาวุธประจำกาย" ผีตาโขนส่วนมากจะใช้ผู้ชายแสดงเนื่องจากต้องกระโดดโลดเต้นไปเรื่อย ๆ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผู้หญิงเป็นตัวแสดง นอกจากเข้าร่วมในงาน "บุญหลวง" ยังได้เข้าร่วมขบวนแห่ในวันเปิดงานกาชาดดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย โดยขบวนผีตาโขนจะเดินรอบเมืองเพื่อโชว์ให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็น


                                                                                 ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง

จังหวัดสกลนคร

                                                 


ในช่วงวันออกพรรษา นอกจากจะมีการทำบุญแล้ว ชาวอีสานในบางท้องที่ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจะช่วยกันทำปราสาทผึ้งเพื่อนำไปถวายวัดในคุ้มของตน จนกลายมาเป็นงานบุญประเพณีแห่งปราสาทผึ้ง ขึ้นเพื่อรักษาประเพณีดั้งเดิม โดยการจัดตกแต่งเครื่องสักการะเป็นรูปปราสาททำด้วยขี้ผึ้งเป็นส่วนประกอบสำคัญ มีการออกแบบลวดลายและประดับประดาอย่างวิจิตรพิสดารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพราะเชื่อกันว่า ในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกหลังจากที่เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดานั้น ทวยเทพ มวลมนุษย์ต่างก็จัดเครื่องสักการบูชามารับเสด็จปราสาทผึ้งและเรือไฟก็เป็นเครื่องสักการะในวันนั้นด้วยชาว บ้านจึงได้ทำปราสาทและเรือไฟมาถวายเป็นพุทธบูชาสืบต่อกันมางานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งมีขึ้นในหลายจังหวัดในภาคอีสาน อาทิเช่น


                                                       


ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จะจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 เรื่อยไปจนถึง
เช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหลังวันออกพรรษาที่จัดให้มีการตักบาตรเทโว
เช้าวันแรก จะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งของคุ้มวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนรถพร้อมกับสาวงามนั่งเป็น ประจำขบวน จะเคลื่อนเข้าสู่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานทั้ง 5 วัน เพื่อประกวดประชัน ความงดงามให้ประชาชนได้ชม ในงานวันที่สองจะมีการแข่งเรือยาว หรือที่เรียกว่า "การส่วงเฮือ"จะมีไปจน ถึงวันที่ 3 ของงานซึ่งเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันที่ 4 เป็นวันที่คณะกรรมการจัดงานจะทำพิธีบายศรี สู่ขวัญ ตัดสินความงามปราสาทผึ้ง ส่วนในวันที่ 5 พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร แต่ละคุ้มวัดก็จะร่วมกันปล่อยเรือไฟที่ช่วยกันทำให้ไหลไปตามแม่น้ำโขงเพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ส่วนงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ที่ อ.เมือง จ.สกลนครจะมีขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา ในระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นเวลาสามวันวันแรกจะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งของคุ้มวัดต่างๆ เคลื่อน ไปยังสระพังทอง เพื่อประกวดและทำการตัดสิน


                                                     


เมื่อทราบผลการประกวดในวันที่สองแล้วจะเคลื่อนขบวนแห่ ต่อไปยังองค์พระบรมธาตุเชิงชุมเพื่อถวายสักการะเป็นพุทธบูชาแด่หลวงพ่อองค์แสนและในวันที่สามเมื่อคณะ กรรมการทำพิธีมอบรางวัลให้แก่คุ้มวัดต่างๆ แล้วทั้งขบวนแห่ ผู้เข้าร่วมพิธี พุทธศาสนิกชนก็จะร่วมกันทำพิธี เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเชิงชุมเพื่อเป็นการสักการะบูชา นอกจากนี้ ในวันงานประเพณีจะมีการแข่งขันเรือยาว ฝีพายและมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโบราณ ของอีสาน และมหรสพต่างๆ ให้ชมทุกคืน


                                                   


                   ประเพณีแซงสนัมประจำกะมอ(ประเพณีเลี้ยงผีประจำปี)

จังหวัด สกลนคร


                                                             



ช่วงเวลา ระหว่างเดือน ๔ - ๕ (เดือนมีนาคมเมษายน)ของทุกปี
ความสำคัญ
ประเพณี เป็นประเพณีพื้นบ้านในกลุ่มคนที่เชื่อว่าผีเป็นวิญญาณที่มีอำนาจลึกลับ สามารถทำให้คนเจ็บป่วยได้ การบำบัดรักษามิให้ร่างกายเจ็บป่วยคือ การป้องกันมิให้วิญญาณผีเข้าสิงในร่างได้อีกหลังจากที่ได้ทำพิธีปัดเป่าให้ผีออกไปจากร่างกาย โดยแม่ครูหรือแม่หมอ ทำพิธีเหยา (เยา) คุมผีให้ออกไปแล้ว เพื่อเป็นการซ่อมเสริมสุขภาพของตน ในกลุ่มคนที่รักษาด้วยการเหยาในแต่ละหมู่บ้านจะรวบรวมผู้ที่มีศรัทธาต่อแม่ครู ซึ่งเคยให้การบำบัดรักษาคนมาแล้วให้มาทำพิธีร่วมกันเป็นประจำทุกปี โดยจัดทำพิธีขึ้นในหมู่บ้านของตน และนิยมจัดกันระหว่างช่วงเดือน ๔ ถึง เดือน ๕ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ดอกไม้ป่าบานสะพรั่งสามารถเก็บมาบูชาแม่ครูและจัดผูกร้อยห้อยตามเสาไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา ซึ่งนิยมนำมาเป็นพวง ๆ ประดับเสากลางลานพิธีกรรม พิธีกรรมเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า "ลงสนาม" หรือในภาษาไทยโซ่ เรียกว่า "แซงสนัม" ซึ่งนอกจากจะเป็นการเลี้ยงผีเชิญผีออกจากร่างแล้ว ยังเป็นการบูชาแม่ครูหรือหมอเหยาไปพร้อมกันด้วย พิธีแซงสนัมประจำกะมอจึงมีความสำคัญทั้งในเชิงความเชื่อในด้านการตรวจสุขภาพมิให้เจ็บป่วยจากวิญญาณผีร้ายและเป็นการตอบแทนแม่ครูที่เคยรักษาตนให้พ้นจากความเจ็บป่วยที่ผู้เจ็บป่วยหรือ "ลูกแก้ว" จะพบปะแม่ครูทำพิธีตอบแทนบุญคุณแม่ครูปีละ ๑ ครั้ง ตลอดไป
พิธีกรรม
พิธีกรรมในงานลงสนามเลี้ยงผี โดยปกติจะจัดขึ้น ๒ วัน โดยช่วงก่อนถึงวันงานจะมีผู้ที่ได้รับการอุปโลกให้เป็นหัวหน้า กลุ่มผู้ทำพิธีที่เรียก "ลูกแก้ว" จะปรึกษาหารือกำหนดวันลงสนาม ติดต่อนัดหมายกับแม่ครู รวมทั้งรวบรวมเงินทองที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในวันทำพิธีกรรมและค่าตอบแทนแม่ครู (บ้านกกส้มโฮง ตำบลกุสุมาลย์ เก็บคนละ ๒๐๐ บาท รวม ๑๙ คน) ครั้นถึงวันงานในภาคเช้าจะช่วยกันทำตูบทำผาม (ปะรำพิธี)
ปะรำพิธีจัดขึ้นไม่ยากนัก โดยหาบริเวณที่เป็นลานกว้างด้านหนึ่งจะปลูกร้านปักเสาเป็นล็อคๆ ให้มีความกว้างยาวพอที่จำนวนลูกแก้ว และแม่ครูจะนั่งทำพิธีหรือนอนพักผ่อนในเวลากลางคืนได้ รวมทั้งมีพื้นที่จะวางเครื่องใช้สิ่งของที่จำเป็นปกคลุมหลังคาด้วยวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น หญ้าแฝก ผ้าใบ ผ้าร่ม ด้านหนึ่งของปะรำพิธีหาแผ่นไม้หรือแผ่นสังกะสีกั้นไว้มิให้โล่งแจ้งเพื่อวางเครื่องบูชาของลูกแก้วแต่ละคน
ปัจจุบันอาคารที่ใช้ทำพิธีมักปลูกคล้ายปะรำยาว ๆ ทรงหมาแหงน สำหรับหมู่บ้านที่มีเต้นท์ผ้าใบชนิด ๒ - ๓ ห้อง ก็นำมาใช้ได้อย่างสะดวก เพียงแต่หาสังกะสีมากั้นด้านหนึ่งเพื่อบดบังเครื่องบูชามิให้โล่งแจ้งเกินไปนัก
การจัดเตรียมอีกส่วนหนึ่งคือ การทำเสากลางลานพิธีไว้รำ ตกแต่งด้วยดอกไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา นำมาร้อยเป็นพวง แขวนไว้ตามปลายร่มขนาดใหญ่ รอบ ๆ เสากลางลานพิธี จะมีโอ่งน้ำ กาละมัง จะใส่น้ำไว้ใช้คล้ายเป็นอ่างน้ำมนต์ใช้ลูบหน้าเวลาร้อน ใช้ตักน้ำรดแม่ครูและลูกแก้วด้วยกัน ตลอดจนใช้ลอยเรือกาบกล้วยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งเคราะห์ส่งผีคืนสู่ถิ่นเดิมของตน

การตกแต่งเสากลางลานพิธี เสาไม้ต่าง ๆ มักนิยมนำดอกไม้มาประดับ เช่น ดอกรัง ดอกจิก และดอกจำปา ในช่วงการจัดพิธีลงสนามเป็นช่วงฤดูดอกไม้บานดังคำกลอนที่ว่า "เดือนสามค่อย (คล้อย) ดอกไม้บานคี่ (คลี่) เดือนสี่ค่อยดอกไม้บานหลาย"
ในการตกแต่งปะรำพิธี หมอเยาบางคนจะใช้ไม้อัดแผ่นมาทำเป็นรูปตัวช้างม้า ทาด้วยสีเหลือง หมายถึงเป็นสัตว์พาหนะเชิญให้ผีมาประทับร่างตนและส่งผีกลับที่เดิม
ลูกแก้วทุกคนที่เข้าร่วมพิธีจะเตรียม หมอน ๑ ใบ ขันธ์ ๕ ซึ่งประกอบด้วยเทียน ๕ เล่ม ดอกไม้ ๕ มัด เงินค่าพิธี แล้วแต่ละแห่งกำหนด (เช่น ๑ บาท ๕ สลึง หรือ ๖ สลึง) อุปกรณ์ในการเสี่ยงทาย เช่น ดาบ (ง้าว) ข้าวสาร เป็นต้น อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีผู้จัดหาไว้ให้แม่ครูรวมทั้งเสื้อผ้าที่จะแต่งเมื่อทำพิธีและอุปกรณ์เสี่ยงทายบางอย่างเช่น ไข่ไก่ ๑ ฟอง เหรียญบาท ๕ เหรียญ เป็นต้น ตลอดจนการเตรียมหมอแคน ดนตรี กลอง
ก่อนเวลาเที่ยงวันหมอเยาจะแต่งตัวเข้าสู่ปะรำพิธีพร้อมด้วยลูกแก้ว ทุกคนเข้าประจำที่ของตน ลูกแก้วนั่งประนมมือบูชาครู แม่ครูพนมเพื่อเชิญผีเข้าสู่ร่างตน (แม่ครูคำสี ศรกายสิทธิ์บ้านใต้)


                           ประเพณีงานมหกรรมโปงลาง แพรวากาฬสินธุ์

จังหวัดกาฬสินธุ์

                                          


ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์-๖ มีนาคม ของทุกปี
ความสำคัญ
โปงลาง ถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้เพราะโปงลางได้เปลี่ยนสภาพจากขอลอหรือเกราะลอ มาเป็นเครื่องดนตรีธรรมชาติประเภทเครื่องตีไม้ โดยปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์คือ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง บรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานชิ้นอื่น ๆ จนเกิดเป็นวงดนตรีโปงลาง มีการคิดท่าฟ้อนประกอบลายโปงลางรวมทั้งการแสดงต่าง ๆ ที่ดัดแปลงมาจากวิถีชีวิตธรรมชาติของคนชนบทอีสาน จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไป
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงโปงลางที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ทรงร่วมวงโปงลาง บรรเลงลายเต้ยโขงและลายลมพัดพร้าว ที่พลิ้วหวานจับใจ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงถือเอาวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันเริ่มงานมหกรรมโปงลาง แพรวาและกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์สืบต่อกันมา


                                                              

สาระ
งานมหกรรมโปงลาง แพรวาและงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดที่จัดเป็นประจำทุกปี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศต่างให้ความสนใจกับงานเทศกาลนี้ โดยในแต่ละปีจะเดินทางมาเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของจังหวัดไปปีละเป็นจำนวนมาก เป็นการส่งเสริมรายได้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย วัตถุประสงค์หลักของงานนี้มุ่งเผยแพร่ ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและผลงานของส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนของจังหวัด แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป จุดเน้นสำคัญของงานคือขบวนแห่ในพิธีเปิดงานที่มโหฬารที่แสดงให้เห็นถึง ประเพณีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้างขึ้นจากคำขวัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า "โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรม ผู้ไทย ผ้า
ไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี" ที่แสดงถึงความรักสามัคคี ความพร้อมเพรียง การรวมใจเป็นหนึ่งของผู้คนที่จะช่วยกันจรรโลง เชิดชูเกียรติ ชื่อเสียง และเอกลักษณ์ของเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักสืบไป


                                                           


                                 ประเพณี ฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล

จังหวัดชัยภูมิ


                                                 


พระยาแล คือผู้สร้างเมืองชัยภูมิ
ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคม ของทุกปี
ลักษณะความเชื่อ
ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ ประมาณร้อยละ ๙๕ เป็นคนท้องถิ่นเดิมมีวัฒนธรรมประเพณีที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่นกับหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ประกอบกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัด มีลักษณะเด่นชัดที่เน้นและเชิดชูวีรกรรมความซื่อสัตย์กตัญญูของเจ้าพ่อพระยาแล ทำให้มีงานประจำปีและงานประเพณีซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมของจังหวัดสืบต่อกันมา


                                              


ความสำคัญ
จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าพ่อพระยาแล ผู้สร้างเมืองชัยภูมิคนแรก
พิธีกรรม
จัดในช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคมของทุกปี ในการจัดงานนี้ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพระยาแล ขบวนแห่เครื่องสักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ และขบวนแห่ของอำเภอต่าง ๆ รวมทั้งการออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการและเอกชน การประกวดผลิตผลทางการเกษตร
สาระ เป็นการเชิดชูวีรกรรมความซื่อสัตย์กตัญญูของเจ้าพ่อพระยาแล


                                                                             ประเพณีการแข่งเรือพิมาย

จังหวัดพิมาย

                                                                   


ช่วงเวลา หลังวันออกพรรษา แต่ไม่เกินวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ความสำคัญ
การแข่งเรือเป็นรูปแบบของการเล่นในฤดูน้ำหลากที่สร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และคนต่างหมู่บ้านได้พบปะกัน เป็นการสร้างความสมานสามัคคีของสังคมได้ทางหนึ่ง
พิธีกรรมที่ปฏิบัติ
แต่เดิมแข่งที่ท่าน้ำบ้านวังหิน ต่อมาย้ายมาแข่งที่ลำตลาด ซึ่งอยู่ที่อำเภอพิมาย โดยจัดต่อเนื่องกันทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เดิมเมื่อแต่ละหมู่บ้านทราบกำหนดการแข่งเรือล่วงหน้าก็จะฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านจนชำนาญ เมื่อใกล้ถึงวันแข่งเรือจะนำขึ้นมาขัดท้องเรือด้วยใบตองแห้ง เสร็จแล้วทาสีและลวดลายที่เรือและใบพาย แล้วทำพิธีไหว้เซ่นแม่ย่านางเรือเสร็จแล้วลากเรือลงน้ำฝีพายลงเรือโห่เอาฤกษ์เอาชัย เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณสถานที่แข่งขันเมื่อพระฉันจังหันแล้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่จะให้เรือแต่ละลำพาย แสดงตัวตามลำดับ ซึ่งจะเรียกชื่อตามที่มาถึงก่อนหลังตามชื่อเรือ เช่น มุนีจอมขวัญ เสมียนเสนาะเพราะสนั่นหมื่นสะท้านแผ่นดินไหว เป็นต้น เมื่อครบจำนวนแล้วจับสลากคู่แข่งกันในแต่ละ
ประเภท โดยกำหนดที่ฝีพายเป็นเรือขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แข่งขันจนกว่าจะได้เรือที่ชนะเลิศของแต่ลรุ่น


                                                  




                                                                


สนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งขันเรือพิมาย ได้พัฒนาการแข่งเรือแบบพื้นบ้านมาเป็นการแข่งเรือแห่งประเทศไทย และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเที่ยวพิมายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
สาระ
๑. ได้สืบทอดภูมิปัญญาและการช่างฝีมือ ในการสร้างเรือ การดูแลรักษา
๒. เป็นกระบวนการสร้างพลังสามัคคี การเกาะเกี่ยวทางสังคม อย่างแน่นแฟ้น
๓. ได้รักษาและสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามให้คงไว้กับชุมชน


                                                                                        ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง

จังหวัด บุรีรัมย์

                                                       

ช่วงเวลา เดือนเมษายนทุกปี (วันเพ็ญเดือนห้า)
ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยความคิดริเริ่มของท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณ จากวัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเดินทางมาเพื่อปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานที่เขาพนมรุ้ง ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทางขึ้นสู่ตัวปราสาท ผู้ที่สนใจอยากขึ้นชมปราสาทต่างคนต่างขึ้นมาเองโดยไม่กำหนดเวลาประกอบกับจังหวัดสุรินทร์มีประเพณีขึ้นเขาสวายในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกๆ ปี ท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณเห็นว่าประเพณีขึ้นเขาเป็นสิ่งดี เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญพบปะสังสรรค์ สร้างความสามัคคีและมีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย จึงริเริ่มให้จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งก็ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่ง


                                                 


ปัจจุบันเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งทุกปีจะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือในช่วงเวลานั้นเราจะมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงตามความยาวของปราสาทเราสามารถมองลอดประตูทางด้านทิศตะวันตกฝ่ากรอบประตูต่างๆ กว่า ๑๐ กรอบ ทะลุผ่านประตูปรางค์ประธาน และทะลุออกซุ้มประตูหน้า ความยาว ๘๘ เมตร มองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกรอบประตูพอดี
ความสำคัญ
เป็นวันที่ประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญปิดทองนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์น้อยและทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมทั้งนี้เพราะในช่วงงานประเพณีขึ้นเขา ชาวบ้านหญิงชายจะแต่งกายด้วยผ้าไหมทอลวดลายสวยงามประณีตที่สุดของตนเองเป็นการอวดฝีมือและความสามารถสร้างชื่อเสียงของหมู่บ้านและของตนเองอีกด้วยและยังเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้เที่ยวชมความงามของปราสาทพนมรุ้ง และชักชวนให้คนเดินทางมาเที่ยวชมในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งมากขึ้นทุกปี
สาระ
เป็นการแสดงถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีของประชาชนในท้องที่อำเภอประโคนชัย และบริเวณใกล้เคียงและยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น


                                                 


                                                                                 ประเพณีการเบิกน่านน้ำ

จังหวัดมุกดาหาร


                                                 


ช่วงเวลา กระทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในเทศกาลออกพรรษา ก่อนจะมีการแข่งขันเรือพาย
ความสำคัญ
เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีประเพณีการแข่งขันเรือพายขึ้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า งานออกพรรษา ประเพณีการแข่งเรือถือว่าเป็นการบูชาพญานาค ๗ ตระกูล และเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างชาวมุกดาหารกับชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชลาว
พิธีกรรม
ก่อนจะมีการแข่งขันเรือ จะต้องทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าฟ้ามุงเมือง และศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง โดยจะมีขบวนแห่จากชาวคุ้มวัดต่าง ๆ เพื่ออัญเชิญเจ้าฟ้ามุงเมืองลงเรือลำแรก (ชื่อเรือมุกดาสวรรค์) โดยเจ้าฟ้ามุงเมืองในร่างของจ้ำหรือคนทรงจะประทับนั่งที่หัวเรือ เพื่อเป็นการเบิกน่านน้ำ ให้การแข่งขันเรือพายในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดผลดี เป็นสิริมงคล เกิดความสนุกสนานแก่ปวงชนปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ต่อจากเรือมุกดาสวรรค์จะเป็นขบวนเรือประเพณี ประกอบด้วยฝีพายที่เป็นหญิง แต่งกายสีสันตามแบบพื้นเมือง หัวเรือ ๒ คน และท้ายเรือ ๓ คน จะเป็นชาย หลังจากล่องเรือแข่งกันแล้วจะเริ่มพายทวนน้ำจากหน้าวัดศรีบุญเรืองไปสิ้นสุดที่หน้าวัดศรีมงคลใต้ ระหว่างทางจะหยุดรับเครื่องสักการะจากชาวบ้าน มีเหล้า ดอกไม้ ธูป เทียน และดอกดาวเรือง ส่วนเรือประเพณีที่ตามหลังจะมีสาวงาม ๑ คน ฟ้อนหางนกยูงอย่างสวยงามที่หัวเรือ พร้อมกับฝีพายจะร้องเล่น เซิ้งและผญาอย่างสนุกสนาน


                                            


                                                                

สาระ
เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ เชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขงไทย-ลาว แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดมุกดาหารและชาวสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

                                      ประเพณีบุญผะเหวด(พระเวส)


จังหวัด ร้อยเอ็ด
ช่วงเวลา วันเสาร์ของสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม
ความสำคัญ
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า
พิธีกรรม
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จังหวัดร้อยเอ็ด จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล

                                                

สาระ
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป
นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"


                                                


                                         ประเพณีการฟ้อนกลองตุ้ม

จังหวัดศรีสะเกษ


                                                


ช่วงเวลา การฟ้อนกลองตุ้มเป็นมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวหนองแก้ว ตำบลหนองแวง อำเภอกันทรารมย์ การฟ้อนนี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด
เดือน ๖ ของทุกปี ใช้ฟ้อนประกอบประเพณีบุญบั้งไฟในตอนกลางวัน เดิมมีผู้ฟ้อนเป็นชายล้วน แต่ในปัจจุบันมีทั้งชายและหญิง ส่วนกลางคืนจะมีการฟ้อนงูกินเขียด ซึ่งเป็นการฟ้อนเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายและหญิง
ความสำคัญ
การฟ้อนกลองตุ้มจะไม่มีการไหว้ครู พอเริ่มก็จะฟ้อนเลย ส่วนการถ่ายทอดนั้นนักฟ้อนรุ่นก่อนจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้รุ่นต่อ ๆ ไป ท่าฟ้อนมี ๓ ท่า คือ
ท่าที่ ๑ เริ่มด้วยท่ายกมือทั้งสองข้างโดยกางข้อศอกให้ตั้งฉากและขนานกัน แบมือให้หลังมือหันเข้าหาผู้ฟ้อน แล้วแกว่งแขนขึ้นลงข้างลำตัวสลับไปมา ซ้าย-ขวา เป็นการเชื้อเชิญให้พี่น้องทั้งหลายมาร่วมงานสนุกสนานรื่นเริงในประเพณีบุญบั้งไฟ
ท่าที่ ๒ ยกมือทั้งสองแบออก แล้วไขว้กันอยู่ระดับหน้าผาก งอศอกเป็นการแสดงถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของชาวบ้าน
ท่าที่ ๓ ยื่นแขนทั้งสองข้างออกไปข้างหน้า ให้ฝ่ามือขนานกันมีความหมายให้ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ในอันที่จะปฏิบัติสืบทอดประเพณีที่ถูกต้องและดีงาม การฟ้อนจะฟ้อนถอยหลัง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบและให้จังหวะในการฟ้อนได้แก่ กลองตุ้ม เป็นกลอง ๒ หน้าตัวกลองทำด้วยไม้ประดู่ หน้ากลองทำด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ไม้ตีกลองทำด้วยแก่นไม้แท้ไม่มีการหุ้มหัวไม้ตี และพางฮาด มีลักษณะคล้ายฆ้อง แต่ไม่มีตุ้มใช้ตีแทรกกับเสียงกลอง


                                              


ในการฟ้อนจะเอากลองและพางฮาดหามใช้ราวเดียวกันคนหาม ๒ คน หันหน้าเข้าหากันคนหนึ่งตีกลอง อีกคนตีพางฮาด คนหามกลองและพางฮาดจะเป็นผู้นำขบวนฟ้อนและตีกลองในจังหวะเดียวกันคือ ตุ้ม-แปะ-ตุ้ม เมื่อจะเปลี่ยนท่าฟ้อนคนตีพางฮาดจะเป็นคนให้สัญญาณ ท่ารำไม่อ่อนช้อยแต่ดูสวยงามด้วยการแต่งกายที่ละลานตา
การแต่งกาย สวมเสื้อสีอะไรก็ได้ เพื่อความสวยงามมักจะสวมสีขาวนุ่งโสร่งไหมสีสวยงามมีผ้าสไบ ทอลายขิตสวยงาม และผ้าโพกหัวลายขิต ใส่กระจอนหู (ตุ้มหูโบราณ) คล้องคอด้วยตุ้มเป หรือตุ้มเข็มแขน ๓ เส้น เส้นหนึ่งเป็นสร้อยคอ อีก ๒ เส้นสะพายแล่งไขว้กันเหมือนสายสังวาลย์ ตรงชายตุ้มเปใช้เงินทำเป็นรูปดาวห้อยไว้ทับผ้าสไบ และมีแว่น (กระจกเงา) เล็ก ๆ อีก ๑ บาน แขวนคอไว้ด้วยสร้อยสำหรับใช้ส่องเวลาแต่งหน้าและเพื่อให้เกิดแสงวูบวาบ สะท้อนให้เทวดาฟ้าดินได้มองเห็นความทุกข์ยากของมวลมนุษย์ใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้าทั้ง ๒ ข้าง มีผ้าขิดคาดเอวทับอีกผืนเวลาฟ้อนจะใส่ซวยมือ (เล็บมือ) ๕ นิ้ว มีลักษณะยาวเรียวใช้ไม้ไผ่สานต่อให้ดูนิ้วยาว ปลายไม้ใช้ผ้าฝ้ายมัดไว้เป็นสีขาวเวลาฟ้อนดูสวยงามมาก
สาระสำคัญ
สะท้อนให้เห็นความสามัคคี และความพร้อมเพรียงกันของชาวบ้านที่มาฟ้อนรำกลองตุ้มประกอบประเพณีบุญบั้งไฟ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมา การที่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้แสดงออกด้วยความสนุกสนาน นับว่าเป็นกุศโลบายในการสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป


                                      


                                                ประเพณีแซนการ์ (การแต่งงานชาวเขมรสุรินทร์)

จังหวัดสุรินทร์

                                           


ช่วงเวลา ได้ตลอดปียกเว้นช่วงเข้าพรรษาและเดือนห้า (หรือเดือนเมษายน)แต่ละคู่ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงาน ๒-๓ วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้องหรือวันสุขดิบ วันแต่งและวันส่งตัว


                                                         


ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนเพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล


                                                                   


หนุ่มสาวไทยเขมรในปัจจุบันมีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคยจากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า ๑ ขวด หมากพลู ๑ พาน เทียน ๑ คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงก็จะนัดวันแต่งงาน
การเตรียมตัวเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมทำฟูก(ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา(ผ้าไหว้) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ เตรียมเจียนหมากตากแห้งไว้เป็นของชำร่วยแจก ตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือวันแต่ง
การเตรียมตัวเจ้าบ่าว ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน ทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด ผัก ฯลฯ ตามแต่ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้องไปใช้ในวันงาน รวมทั้งสินสอดด้วย
จูนจำแน็ย (วันสุกดิบ) ก่อนวันแต่ง ๑ วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระเหล่านี้ไปบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้ายก็อาจเลิกหรือเลื่อนวันแต่งไปก่อนก็ได้
ไงแซน (วันพิธีแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี เตรียมการดังนี้
๑. บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ (เมาะจองได)
๒. ปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา
๓. บอนเจาะกราบ (ฟูกนั่งสำหรับบ่าวสาว) บนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน ผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้ ขันน้ำมนตร์ เป็นต้น
๔. การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก
๕. การเข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี
๖. เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว
๗. จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ"ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เป็นการยอมรับ
๘. เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว
๙. การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะ มารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป
๑๐. การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง หลังจากนั้นอาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว ๑๙ ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม…เยอ…" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ…ยอง…เจ เป็ง…ยอง…เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน
๑๑. ส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ พาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
๑๒. การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว
๑๓. การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
๑๔. ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
๑๕. ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) เจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
การเสี่ยงทาย มีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก
สาระ
จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวสุรินทร์นั้นเน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษและยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่าปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้นเต่าเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือตัญญูปะกำเป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว



                                ประเพณีเลี้ยงผีมเหสักข์ ชาวผู้ไทยวาริชภูมิ

จังหวัดสกลนคร

                                                 


ช่วงเวลา เมษายน ของทุกปี
ความสำคัญ
เมื่อชาวผู้ไทยอพยพข้ามโขงเดินทางมาถึงเมืองสกลนคร จึงได้เข้ามาตั้งที่พักชั่วคราวในสนามมิ่งเมืองใกล้ ๆ บ้านเจ้าเมืองสกลนคร โดยมีผู้นำชื่อว่าท้าวราชนิกูลเป็นหัวหน้าควบคุมผู้คนอพยพเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๘๗ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นสมัยที่ชนกลุ่มเมืองต่าง ๆ ได้เรียกร้องขอตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นหลายแห่ง ท้าวราชนิกูลซึ่งอดทนมาเป็นเวลาแรมปี


                                                 


จึงขออนุญาตพาไพร่พลออกไปตั้งบ้านเมือง แต่กลับถูกขัดขวางไม่ยอมยกพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใดให้ตั้งเมือง กลับแต่งตั้งให้บุตรท้าวราชนิกูล อีกคนหนึ่งเป็นนายหมวด นายกองควบคุมชาวผู้ไทยแทน
ท้าวราชนิกูลเห็นว่าการเจรจาไม่เป็นผลจึงนำอพยพไพร่พลมุ่งไปทางทิศตะวันตกออกจากเมืองสกลนคร เจ้าเมืองสกลนครได้นำไพร่พลออกขัดขวางแต่ก็ไม่เป็นผล คงนำไพร่พลออกเดินทางไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองหอย ใกล้กับที่ตั้งอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวไทโย้ย ตั้งเมืองวานรนิวาสได้แล้ว
การตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองหอยในระยะนั้น ถือว่ายังอยู่ในเขตเมืองสกลนคร และเป็นเมืองที่ยังมิได้รับในตราภูมิอนุญาตให้ตั้งเมือง ด้วยปัญหาดังกล่าวท้าวสุพรหม บุตรท้าวราชนิกูล จึงได้ขอพึ่งบารมีพระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหาน ท้าวสุพรหม ได้พาบ่าวไพร่เดินทางไปกรุงเทพฯ เข้าร้องเรียนต่อพระยาภูธราภัย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแต่เนื่องจากไม่มีใบบอกของเจ้าเมืองสกลนครก็ไม่อาจนำความขึ้นกราบบังคมทูลได้ ท้าวสุพรหมจึงเดินทางกลับมาและได้รับการยกบ้านป่าเป้าเมืองไพร ในเขตหนองหาน ให้เป็นเมืองของชาวผู้ไทยแทน ต่อมาเมื่อเกิดศึกฮ่อใน พ.ศ.๒๔๑๘ กองทัพของพระยามหาอำมาติย์ (ชื่น) เดินทัพขึ้นไปที่หนองคาย ท้าวสุพรหมได้คุมเลกไพร่ของตน ๓๐ คน เข้าร่วมกับกองทัพของพระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาน ในการปราบฮ่อ เมื่อเสร็จศึกฮ่อแล้ว ท้าวสุพรหมได้ทูลขอ







บ้านผ้าขาวแขวงเมืองสกลนคร เป็นเมืองขึ้น แต่พระยาประจันตประเทศธานีคัดค้าน พระพิทักษ์เขตขันธ์จึงขอตั้งบ้านป่าเป้าเมืองไพร่ เป็นเมืองวาริชภูมิให้ท้าวสุพรหม เป็นพระสุรินทร์บริรักษ์ เจ้าเมืองวาริชภูมิ ขึ้นเมืองหนองหาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐
ในสมัยกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมือง มณฑลอุดรธานี ได้มีคำสั่งให้เมืองวาริชภูมิ โอนมาทำราชการที่เมืองสกลนคร ใน พ.ศ.๒๔๓๕ โดยได้กรมการเมืองวาริชภูมิยังคงตำแหน่งเดิมทุกคน ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) ได้ประกาศยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงค์ ราชบุตรมาเป็นตำแหน่งข้าราชการส่วนกลางเช่นปัจจุบัน
ชาววาริชภูมิเชื่อในความมีจริงของอิทธิฤทธิ์เจ้าปู่มเหสักข์ของตนว่าสามารถเป็นที่พึ่งในยามคับขันให้ตนได้ ทั้งยังมีเรื่องเล่าสืบเนื่องต่อกันมาช้านานในอิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ ดังความตอนหนึ่งว่า
ในสมัยอดีต ขุนเพายาว เจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อเจ้าหุน และเจ้าหาญ ขุนเพายาว ได้ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความสุข ผู้คนมีมากด้วยทรายหลายดังน้ำ ต่างก็มีอันจะกิน สร้างบ้านแปลงเมือง อยู่มานานหลายปีถึงช่วงระยะหนึ่งบ้านเมืองประสบภาวะฝนแล้ง ข้าวไร่นาเสียหาย เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ประกอบกับความแห้งแล้ง มีติดต่อกันมาหลายปี ขุนเพายาวพร้อมครอบครัว บ่าว นาย ไพร่ จึงได้อพยพลงมาทางใต้ ขบวนเดินทางรอนแรมผ่านป่า ผ่านเขา เป็นเวลาช้านานหลายเดือน เนื่องจากขบวนประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก ขบวนเดินเท้าจึงหยุดพักผ่อนตั้งค่ายพักแล้ว จึงเดินทางต่อเป็นอย่างนี้เรื่อยมา ช่วงเวลาหนึ่งขุนเพายาวได้สั่งให้ขบวนหยุดพัก ตั้งค่ายพัก ณ ที่แห่งหนึ่งด้วยเห็นเป็นทำเลที่เหมาะ และในวันหนึ่งขณะที่ผู้คนต่างออกหาเสบียง เจ้าหาญลูกชายขุนเพายาว ผู้น้อง ยิงกวางตัวหนึ่งจนบาดเจ็บ วิ่งหนีไปได้ เจ้าหาญจึงได้แกะรอยเข้าไปอย่างใกล้ชิด จนไปพบกวางตัวนั้นนอนตายที่หน้าเจ้าหุนผู้เป็นพี่ ต่างฝ่ายต่างเลยเถียงกันว่า กวางตัวนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ต่างฝ่ายโต้เถียงอย่างไม่ละลดไม่ยอมกัน ร้อนถึงขุนเพายาวผู้เป็นบิดาต้องมาช่วยตัดสินปัญหา ขุนเพายาว ตัดสินให้กวางตัวนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหุน ทำให้เจ้าหาญผู้เป็นน้องเสียใจว่าบิดาไม่รัก ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์ เข้าข้างผู้เป็นพี่ชาย
ความรู้สึกน้อยใจทำให้เจ้าหาญชักชวนบ่าวไพร่ และผู้รักใคร่พร้อมด้วยครอบครัวอพยพออกจากขบวนของบิดา ไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ปรากฏว่ามีผู้ติดตามไปจำนวนมาก ขบวนอพยพรอนแรมป่าอยู่หลายวัน ผู้คนได้รับความลำบากเป็นอันมาก จึงได้หันไปพึ่งผีฟ้า ซึ่งชาวผู้ไทยนับถือเช่นเดียวกับชาวฮ่อ เจ้าหาญคิดว่าต่อไปข้างหน้าขบวนอพยพของตนอาจได้รับความลำบากได้รับอันตรายตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ อาจถึงมีศึกสงครามเป็นแน่แท้ แต่ก็จนใจที่ชาวผู้ไทยไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเจ้ายึดเหนี่ยว เป็นที่พึ่งทางใจคุ้มภัยให้เลย ครั้นขบวนอพยพมาถึงธารน้ำแห่งหนึ่ง ด้านหลังมีภูเขาใหญ่มีหน้าผาสูงชัน แหงนคอตั้งบ่าเจ้าหาญจึงสั่งให้ขบวนหยุดและตั้งค่ายพักขึ้น และพาไพร่พลจำนวนหนึ่งสร้างศาลขึ้นหลังหนึ่งด้านหลังค่ายพักหน้าผาสูงแห่ง
นั้นแล้วต่อมาเมื่อเห็นผู้คนหายเหนื่อยแล้ว จึงนำผู้คน บ่าวไพร่ พร้อมใจกันอธิษฐาน อัญเชิญเทพยดาฟ้าดิน เจ้าภูผา เจ้าป่าเจ้าเขา ให้มาสถิตอยู่ ณ ศาลนั้น ขอให้เป็นกำแพงคุ้มกันขบวนของชาวผู้ไทยตลอไป
ครั้นทำพิธีเสร็จได้พร้อมกันหาดอกไม้ธูปเทียนบูชา จัดสำรับกับข้าวคาวหวานเลี้ยงและเรียกชื่อเทพสถิตอยู่ ณ ศาลแห่งนี้ว่า "เจ้าปู่มเหสักข์" ผู้คนในขบวนต่างก็ร่วมฉลองเป็นการใหญ่
ขบวนอพยพได้รอนแรมเรื่อยมา ค่ำลง ณ ที่ใดก็ตั้งค่ายพัก เจอที่เหมาะก็พักหลายวัน ตั้งค่ายลงที่ใดก็ตั้งศาลเจ้าปู่ขึ้นไว้ เคารพบูชามิได้ขาด จากนั้นขบวนก็มุ่งลงใต้เรื่อยมา พอถึงฤดูฝนการเดินทางลำบากก็หยุดพักขบวน พอเข้าหน้าแล้งก็ออกเดินทางต่อไป ตกบ่ายวันหนึ่งขบวนอพยพผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ อากาศร้อนอบอ้าวมากได้เกิดไฟป่าโดยมิได้คาดฝัน ไฟได้ไหม้ลุกล้อมขบวนทุกด้านอย่างรวดเร็ว ต่างคนต่างจวนตัวไม่รู้ว่าจะไปทางทิศใด เจ้าหาญเห็นจวนตัวนึกอะไรไม่ออกจึงพนมมือตั้งจิตวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อเจ้าปู่มเหสักข์ว่า "บัดนี้ลูกหลานได้รับความลำบากยิ่งถึงคราวจวนตัวไฟป่ามาถึงแล้ว ขอบารมีท่านช่วยขจัดปัดเป่าช่วยคุ้มภัยช่วยเป็นกำแพงกันไฟป่าให้ลูกหลานด้วย ท่ามกลางเสียงร้องคร่ำครวญกู่เรียกหา และเสียงกิ่งไม้ถูกไฟป่าเผาผลาญ ปาฏิหารย์ของเจ้าปู่ก็ปรากฏไฟป่าอ่อนตัวลง บ้างก็ดับ บ้างก็เปลี่ยนทิศทาง ไม่นานท้อง
ฟ้าก็แจ่มใสอากาศโปร่งเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก คนทั้งปวงเห็นนิมิตเป็นมงคล เมื่อตั้งค่ายพักแรมในค่ำวันนั้น เจ้าหาญจึงให้จัดพิธีบวงสรวงเจ้าปู่ขึ้น ดังนั้นการเซ่นสรวงสำหรับผู้ตกทุกข์ขอความช่วยเหลือจึงมีมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


                                       


เมื่อชาวผู้ไทยในสมัยของท้าวสุพรหม ผู้เป็นบุตรของท้าวราชนิกูลได้เป็นเจ้าเมืองคนต่อมา ได้รับพระราชทานทินนามเป็นพระสุรินทร์บริรักษ์และขอพระราชทานเมืองหนองหอยขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้อัญเชิญเจ้าปู่มเหสักข์ แล้วตั้งศาลเจ้าปู่ขึ้นบริเวณที่ดอนซึ่งเป็นป่ารกทึบ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร (คือบริเวณบ้านนายสาย ใกล้ฝน ในปัจจุบัน) และใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดพิธีเซ่นสังเวยเจ้าปู่มเหสักข์ทุกปี แต่ศาลเจ้าปู่แห่งนี้ไม่สะดวกสำหรับชาววาริชภูมิ ที่ต้องการไปไหว้เจ้าปู่เพราะเป็นป่ารกทึบ จึงได้สร้างศาลจำลองขึ้นหลังหนึ่งไว้ที่บ้านเจ้าจ้ำ (นายทองเพื่อน เหมะธุลิน) จวบจนสามารถสร้างศาลเจ้าปู่มเหสักข์จากที่ดอนมาประดิษฐานไว้ในที่แห่งนี้
ชาวผู้ไทยวาริชภูมิมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของเจ้าปู่มเหสักข์ว่า นอกจากจะสามารถคุ้มครองป้องกันภัยต่าง ๆ ได้แล้ว การคุ้มครองป้องกันอัคคีภัยไหม้บ้าน เมื่อเกิดเหตุยังสามารถพึ่งบารมีได้อย่างชงัด นอกจากนี้ยังปรากฏนิมิตร่างของเจ้าปู่เป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น เสือลายพาดกลอน งูใหญ่ สุนัขสีขาว หรือปรากฏในความฝันว่าเป็นชายร่างใหญ่ ผิวดำ เสียงดัง มีอำนาจ แต่งกายนักรบโบราณ มือถือดาบ หน้าอิ่มเป็นลักษณะผู้ดี มีสกุลเป็นชั้นเจ้าตามบุคลิกของผู้นำที่สามารถ
พิธีกรรม
ประเพณีในการทำพิธีเซ่นสังเวยเจ้าปู่มเหสักข์ ในสมัยก่อนมักทำในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จ มีเงินทองจับจ่ายอย่างสะดวก เป็นช่วงเวลาที่เดินทางสะดวกก่อนถึงฤดูฝนและมักจะทำพิธีสามปีต่อครั้ง ดังที่กล่าวกันว่า "สองปีฮาม สามปีคอบ" โดยการเซ่นสังเวยในยุคนั้นเชื่อว่า วัว-ควาย ที่ถึงคราวหมดอายุขัยจะมาตายเองที่ศาลเจ้าปู่ ผู้คนเตรียมเครื่องปรุงอาหารไว้ให้พร้อมเพื่อทำลาบแดง ลาบขาว เนื้อหาบ เนื้อคอน ถวายเจ้าปู่ก่อนหลังจากนั้น ลูกหลานเจ้าปู่จึงบริโภคให้หมดให้สิ้นห้ามนำกลับบ้าน
อย่างไรก็ดีพิธีกรรมดังกล่าวในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเฒ่าจ้ำและผู้รับภาระหน้าที่จะจัดเครื่องเซ่นสังเวย อาหารคาว พานบายศรี ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ตามธรรมเนียมเพื่อไหว้เจ้าปู่ ในตอนเช้ามีการแสดง เช่น หมอลำให้ประชาชนชมในช่วงกลางวัน ส่วนในภาคกลางคืนเป็นการชุมนุมพี่น้องลูกหลานชาวผู้ไทย กะป๋องวาริชภูมิ หน้าศาลเจ้าปู่ มีการแสดงฟ้อนรำผู้ไทยกะป๋อง ฟ้อนบายศรีขณะเดียวกันก็จะมีการผูกข้อต่อแขนให้ศีลขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่
สาระ
วันที่ ๕ เมษายน ของทุกปี จึงเป็นวันที่มีความหมายของชาวผู้ไทยวาริชภูมิทั้งที่อยู่ใกล้และไกลที่จะต้องพยายามมา "ตุ้มโฮม" รวมพี่รวมน้องชาวผู้ไทยภาพที่ชาวผู้ไทยหลั่งไหลเข้ากราบไหว้บูชารูปปั้นเจ้าปู่มเหสักข์ไม่ขาดสายท่ามกลางเสียงอวยชัยอวยพรของตนนับหมื่นคนกลางลานหน้าศาลเจ้าปู่มเหสักข์ แสดงถึงความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างหาได้ยากของสังคมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเจ้าปู่มเหสักข์เป็นสายโยงใยให้ศรัทธาความเชื่อของผู้คนเหล่านี้มารวมกันได้อย่างน่าสรรเสริญ


                                            ประเพณีบุญบั้งไฟ

จังหวัด ยโสธร



ช่วงเวลา เดือนพฤษภาคม
ความสำคัญ
ชาวจังหวัดยโสธรร้อยละ ๘๕ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวยโสธรจึงจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการทำบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูการทำนา เป็นพิธีขอฝนจากพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล



                                        


พิธีกรรม ประกอบด้วย
๑. เป็นการตักเตือนให้รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งไม่แน่นอน เกษตรกรไม่ควรประมาท
๒. เป็นงานประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และความสมัครสมานสามัคคีของประชาชน
๓. กิจกรรมการเซิ้ง สอนให้คนในสังคมรู้จักการบริจาคทาน และการเสียสละ
๔. เป็นงานประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวจังหวัดยโสธร





๑. การเซิ้งเพื่อขอรับบริจาคทรัพย์สินเงินทอง และอาหารการกิน เพื่อนำมาเป็นทุนในการจัดทำบั้งไฟและเป็นเสบียงสำหรับผู้จัดทำบั้งไฟ

๒. การประกวดขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม (บั้งไฟโก้)
๓. การประกวดขบวนรำเซิ้ง
๔. การประกวดธิดาบั้งไฟโก้
๕. การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง
๖. การแข่งขันจุดบั้งไฟ แฟนซี (บั้งไฟ แสง สี เสียง)
๗. การประกวดกองเชียร์บั้งไฟในวันแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง